เมื่อวันที่ 5 เมษายน 53
พลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าการนำผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตก๊าซชีวภาพนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพลังงาน
เมื่อพลังงานจาก "ปิโตรเลียม" ส่งสัญญาณว่าเริ่มจำนวนลดน้อยถอยลง และในอนาคตจะมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ หลายประเทศจึงเสาะหาพลังงานทดแทนบนดินที่ส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติ อาทิ พลังงานจากลม น้ำ แสงอาทิตย์ รวมทั้ง พืช
และในจำนวนนี้ก็มี นายชยานนท์ สวัสดีนฤนาท นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน (สวพ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ทำโครงการวิจัย "ผลิตก๊าซชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตร" ขึ้น
นายชยานนท์ บอกว่า การศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตร ได้มุ่งไปที่ มันสำปะหลัง และ ต้นข้าวโพด ซึ่งเป็นพืชที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ และมีการปลูกกันอย่างแพร่หลายภายในประเทศ ด้วย "เทคนิคการหมักย่อยแบบไร้อากาศ" หรือ ไม่มีออกซิเจน ซึ่งผลที่ได้ก๊าซชีวภาพที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นก๊าซมีเทนถึงประมาณ 60-70% สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างกัน
อย่างพลังงานความร้อนหรือพลังงานไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าการนำผลผลิตทางการเกษตรมาผลิตก๊าซชีวภาพนี้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดปัญหาราคาผันผวนของมันสำปะหลังและข้าวโพดผันลงด้วย
สำหรับการวิจัย ได้เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2552 โดยขั้นตอนขบวนการเริ่มจาก หาศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพของมันสำปะหลัง และต้นข้าวโพดพบว่า มันสำปะหลังพันธุ์ ระยอง 5 ที่ใช้ในการทดลองปริมาณ 1 ตัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดประมาณ 300 ลูกบาศก์เมตร ซึ่ง ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 420 หน่วย หรือ ทดแทนน้ำมันเตาได้ ประมาณ 165 ลิตร หรือ ทดแทนก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 138 กิโลกรัม
ในขณะที่ ต้นข้าวโพดสดพันธุ์ 271 และ พันธุ์ CP ที่ใช้ในการทดลองปริมาณ 1 ตัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้สูงสุดประมาณ 50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่ง ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณ 70 หน่วย หรือ ทดแทนน้ำมันเตาได้ 28 ลิตร หรือ ทดแทนก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 23 กิโลกรัม เมื่อคิดเปรียบเทียบจากพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง 1 ไร่ จะผลิตมันสำปะหลังได้ 3.6 ตัน
สามารถนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ 1,080 ลูกบาศก์เมตร และหากใช้ พื้นที่ 1 ไร่ ในการปลูกข้าวโพด หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตจะได้ต้นข้าวโพดสด 2 ตัน สามารถนำไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ 100 ลูกบาศก์เมตร
แม้โครงการดัง กล่าวยังอยู่ในช่วงทดลองระบบต้นแบบ แต่ก็นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีในด้านลดการสูญเสียทรัพยากร ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเผาพื้นที่เพาะปลูก และเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตรในบ้านเรา
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยคาดว่าระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากผลิตผลทางการเกษตรจะเริ่มใช้ได้ ราวกลางปี 2554 ได้อย่างแน่นอน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 5 เมษายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/74934