เกาะติดสถานการณ์ 'ลิ้นจี่' รุ่งหรือไม่
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 53
เกาะติดสถานการณ์ 'ลิ้นจี่' รุ่งหรือไม่
ปี 2553 นี้ กระทรวงเกษตรฯ คาดการณ์ว่า จะมีผลผลิต “
ลิ้นจี่”ออกสู่ตลาดทั้งประเทศ รวมทั้งสิ้น 74,328 ตัน เป็นลิ้นจี่จากพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และพะเยา จำนวน 62,366 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา คิดเป็น 11.22% เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างแปรปรวนประกอบกับปัญหาภัยแล้งทำให้ลิ้นจี่สุกเร็วและมีคุณภาพต่ำ โดยผลผลิตจะเริ่มทยอยสู่ท้องตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน และจะกระจุกตัวสูงมากในช่วงเดือนพฤษภาคมช่วงเดียวกับผลไม้ภาคตะวันออก คิดเป็น 57.91%
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ได้เร่งจัดทำแผนบริหารจัดการลิ้นจี่ เตรียมพร้อมรองรับปัญหาลิ้นจี่ล้นตลาดและราคาตกต่ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้
นายอนันต์ ลิลา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึงแผนบริหารจัดการลิ้นจี่ ปี 2553 ว่า คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit board) มีมติเห็นชอบในการบริหารจัดการลิ้นจี่ ภายใต้ 4 มาตรการหลัก คือ
1.มาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศ
2.มาตรการส่งเสริมการแปรรูป
3.มาตรการพัฒนาคุณภาพผลผลิต และ
4.มาตรการส่งเสริมตลาดภายในประเทศ โดยใช้งบประมาณของจังหวัดและท้องถิ่น จำนวน 41,066 ตัน (65.84%) และบริหารจัดการโดยของบจาก คชก.เพิ่มเติม จำนวน 21,300 ตัน เป็นเงินจ่ายขาด 49,454,000 บาท และเงินทุนหมุนเวียน 7.50 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำและช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับ เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ในแหล่งผลิตใหญ่ 4 จังหวัด
สำหรับมาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศมีเป้าหมาย จำนวน 22,250 ตัน โดยจะสนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ให้แก่กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนในการจัดซื้อลิ้นจี่สดเพื่อเร่งระบายผลผลิต ออกนอกแหล่งผลิต จำนวน 2,250 ตัน ใช้เงินทุนหมุนเวียน 7.50 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนให้เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ช่วยกระจายลิ้นจี่สดไปสู่ตลาดปลายทาง โดยจะชดเชยค่าขนส่งเหมาจ่ายและค่าบริหารจัดการลิ้นจี่ อัตรากิโลกรัมละ 2 บาท จำนวน 20,000 ตัน วงเงินจ่ายขาด 40 ล้านบาท
มาตรการส่งเสริมการแปรรูป มีเป้าหมายดำเนินการ 600 ตัน โดยจะสนับสนุนแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินทั้ง ธ.ก.ส. ธนาคารกรุงไทย และเอสเอ็มอี (SME) ให้แก่กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และภาคเอกชนเพื่อดำเนินการแปรรูปอบแห้งเนื้อลิ้นจี่ โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี วงเงินกู้ 6 ล้านบาท และใช้เงินจ่ายขาด 3 แสนบาท
ส่วนมาตรการส่งเสริมตลาดภายในประเทศนั้น ได้เตรียมแผนประสานความร่วมมือกับจังหวัดเพื่อจัดงานเทศกาลรณรงค์การบริโภค และจำหน่ายลิ้นจี่ในจังหวัดแหล่งผลิต พร้อมรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคลิ้นจี่ในจังหวัดปลายทางที่มีศักยภาพการตลาดสูง 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ นครราชสีมา อุดรธานี ชลบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป้าหมายผลผลิตไม่น้อยกว่า 100 ตัน ใช้เงินจ่ายขาดรวม 5.80 ล้านบาท
“ปีนี้ต้นทุนการผลิตลิ้นจี่เฉลี่ยอยู่ที่ 12.93 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเกษตรกร ขายได้ช่วงผลผลิตกระจุกตัวมาก คาดว่าเฉลี่ยที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทำให้ผู้ปลูกลิ้นจี่ขาดทุนและได้รับความเดือดร้อน เพราะนอกจากจะแข่งกันเองแล้ว ลิ้นจี่ภาคเหนือยังต้องแข่งขันด้านการตลาดกับผลไม้ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ซึ่งมีช่วงเวลาสุกแก่และออกสู่ตลาดตรงกัน หากวางแผนบริหารจัดการระบายผลผลิตไม่ดี ผลไม้อาจเน่าเสียปริมาณมากหรืออาจเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำขึ้นซ้ำอีกได้” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ระยะนี้สวนผลไม้ต้องประสบปัญหาภาวะอากาศแปรปรวนและแห้งแล้ง เกษตรกรจำเป็นต้องรักษาความชื้นในดินให้เหมาะสม อย่าให้ต้นไม้ ขาดน้ำเพราะจะส่งผลถึงคุณภาพผลผลิตได้ บางพื้นที่อาจมีพายุฤดูแล้งเกิดขึ้น ดังนั้น ควรมีการโยงกิ่งหรือค้ำต้น เพื่อป้องกันกิ่งฉีกหักเนื่องจากลมพายุในฤดูแล้งและน้ำหนักของผลผลิต ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยป้องกันและลดความสูญเสียได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 เมษายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=58196
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง