เมื่อวันที่ 7 เมษายน 53
กรมประมงออกประกาศงดออกหนังสืออนุญาตนำเข้ากุ้งทะเล จากประเทศอินโดนีเซียและบราซิล ตั้งแต่เดือน เมษายน 2553 เป็นต้นไป หลังจากพบว่าสถานการณ์การระบาดของโรค IMN ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องของไทยที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หลังจากที่กรมประมงได้ออกประกาศเตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังการระบาด และกำหนดมาตรการคุมเข้มการนำเข้ากุ้งทะเลเพื่อรองรับสถานการณ์โรค IMN ซึ่งระบาดในกุ้งทะเลที่อินโดนีเซีย และบราซิล พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด ขณะนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า สถานการณ์โรคระบาด IMN ที่อินโดนีเซียและบราซิล มีความรุนแรงและขยายพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมกุ้งเป็นอย่างมากและยังคงไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการระบาดของโรคมาสู่ระบบเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทย กรมประมงจำเป็นต้องงดออกหนังสืออนุญาตนำเข้ากุ้งทะเลจากอินโดนีเซียและ บราซิลเข้ามาในประเทศ โดยครอบคลุมกุ้งทะเล 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งขาว (Penaeus vannamei) กุ้งฟ้า (P.styliostris) และกุ้งกุลาดำ (P. monodon) ซึ่งเป็นกุ้งทะเลชนิดที่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ Office International des Epizooties (OIE) ได้ระบุว่า เป็นกุ้งชนิดที่มีการติดโรค IMN นี้
อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบจากการงดออกหนังสืออนุญาตให้นำเข้าดังกล่าว คงจะมีไม่มากนัก เนื่องจากไทยไม่มีการนำเข้ากุ้งทะเลจากบราซิล แต่มีการนำเข้าจากอินโดนีเซียในปี 2552 เข้ามาผลิตเพื่อส่งออก ประมาณ 100 ตันเศษ ซึ่งเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณกุ้งทะเลที่ไทยผลิต ดังนั้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมกุ้งไทย จึงขอให้ผู้ประกอบการที่นำเข้ากุ้งทะเลจากอินโดนีเซียมาผลิตเพื่อส่งออก ได้เตรียมการรองรับผลกระทบดังกล่าวด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 7 เมษายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=206341