เมื่อวันที่ 7 เมษายน 53
พลังงานทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาด้านวิกฤตพลังงาน และราคาผลิตผลทางการเกษตร ยังส่งผลให้คนในชุมชนเกิดการรวมกลุ่มร่วมคิด ร่วมสร้าง ก่อให้เกิดความสามัคคี
จากการนำปัญหาที่เกิดในแต่ละพื้นที่มาวิเคราะห์หาทางแก้ไข ส่งผลให้เกิด "ต้นแบบ" การเรียนรู้ด้านการจัดการแก้ไขขึ้นในหลายๆพื้นที่ และบ้านวังศิลา ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ชุมชนที่ได้รับคัดเลือกให้ตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติ "พลังงาน" และราคามันสำปะหลัง ซึ่งเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นรายได้หลักของผู้คนในแถบนี้
นายยงค์ ภักดีศรี ผู้จัดการโครงการนำร่องลดต้นทุนการผลิตเอทานอลฯ บอกว่า ในขณะรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานการเกษตร มีโอกาสเข้าไปดูการผลิตเอทานอล โครงการส่วนพระองค์วังสวนจิตรลดา ซึ่งใช้พืชพลังงานเป็นวัตถุดิบจึงสนใจ เพราะปัจจุบันทั่วโลกเริ่มมองหาพลังงานทางเลือก ประกอบกับในพื้นที่วังน้ำเขียว ชาวบ้านส่วนใหญ่มีรายได้จากการปลูกมันสำปะหลัง ที่นอกจากต้องขนส่งไกล ราคาซื้อขายยังค่อนข้างถูก และเมื่อได้ไปดูงานนิทรรศการงานวันนักประดิษฐ์ ซึ่งนักวิจัยมีโครงการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลระดับชุมชน
จึงสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่ ผศ.ดร.จิรวรรณ เตียรถ์สุวรรณ นักวิจัยจากคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) พร้อมด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกัน
หลังได้รับคัดเลือก และทีมวิจัยมาสร้างโรงงานต้นแบบฯในชุมชนไม่นาน นอกจากได้เอทานอล ซึ่งในอนาคตจะทดลองใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงเครื่องปั่นไฟ ส่วนผสมสำหรับเครื่องยนต์ ยังส่งผลให้มันสำปะหลังซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่โครงการมีราคาซื้อขายดีขึ้น จากเดิมเพียงกิโลกรัมละ 1 บาท ถ้านำมาขายหัวสดจะได้เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 2.50 บาท แบบตากแห้งกิโลกรัมละ 5 บาท กลุ่มแม่บ้านมีรายได้เสริมจากการขายผลิตภัณฑ์
ผศ.ดร.จิรวรรณ หัวหน้าโครงการฯ บอกถึงขบวนการทำงานว่า ขั้นแรกนำเอามันสำปะหลังไปหมักจนเกิดเป็นน้ำส่า โดยใช้ยีสต์เป็นตัวทำเกิดปฏิกิริยาจากแป้งเป็นน้ำตาล และกลายเป็นแอลกอฮอล์ในที่สุด เสร็จแล้วก็นำเอาน้ำส่าที่ได้มากลั่นในถังสเตนเลส ผ่านความร้อนจากแผงรับรังสีแบบแผ่นราบ (Solar Collector) จำนวน 69 แผง ซึ่งอาศัยความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง แล้วนำไปผ่านขบวนการต่างๆ
กระทั่งได้เอทานอลบริสุทธิ์ 70-75 เปอร์เซ็นต์ สำหรับทำผลิตภัณฑ์เป็นเจลล้างมือ และเจลเชื้อเพลิง ส่วน "กากส่า" ที่เหลือจากผลิตเอทานอลบริสุทธิ์ ยังนำมาใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในแปลงทดลองปลูกข้าวโพดหวาน อัตราครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งช่วยให้ข้าวโพดมีเมล็ดเต็มฝักและผลผลิตดี ใกล้เคียง ไม่ต่างจากการใส่ปุ๋ยเคมีอย่างเดียว นับว่าเป็นการเพิ่มทั้งมูลค่าและลดต้นทุนในคราวเดียวกัน และเพื่อให้ชาวบ้านสามารถดูแลโรงงานได้ด้วยตนเอง จึงจัดอบรมปฏิบัติจริง ซึ่งบางคนได้กลายเป็นวิทยากรในการขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆในอนาคต
นายกฤษณ์ธวัช นพนาคีพงษ์ รองเลขาธิการ วช. กล่าวว่า ชุมชนบ้านวังศิลานับเป็นศูนย์ต้นแบบผลิตเอทานอลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ปลอดสารพิษ ซึ่งนอกจากช่วยแก้ปัญหาในด้านพลังงาน ราคาผลิตผลทางการเกษตร ยังส่งผลให้คนในชุมชนเกิดการรวมกลุ่มร่วมคิด ร่วมสร้าง ก่อให้เกิดความสามัคคี อีกทั้งช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่มีงานทำ ทั้งนี้ วช.เตรียมบูรณาการโครงการต่างๆ ที่สนับสนุนในหลายพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้สามารถรักษารูปแบบการพึ่งพาตนเองอย่างพอเพียงและยั่งยืนตลอดไป
ชุมชนใดสนใจเรียนรู้พลังงานทางเลือก หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ได้จากโครงการ สามารถกริ๊งกร๊างสอบถามได้ที่ โทร. 08-7244-4299, 08-1803-0122.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 7 เมษายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/75231