เมื่อวันที่ 8 เมษายน 53
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกพริกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี และใกล้เคียง กำลังประสบปัญหาการระบาดของโรครากปมอย่างรุนแรง กรมวิชาการเกษตร จึงได้แนะนำให้เกษตรกรปลูกปอเทือง เพื่อป้องกันการระบาดของไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne spp. สาเหตุของโรครากปม
นายสมชายกล่าวอีกว่า การนำปอเทืองมาปลูกสลับกับการปลูกพริกถือเป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ที่กรมวิชาการเกษตรให้ความรู้กับเกษตรกรในการป้องกันการระบาดของโรครากปมในแปลงปลูกพริก จัดเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัย และรักษาสภาพแวดล้อม สามารถปลูกได้โดยวิธีการหว่านลงในแปลงให้ทั่ว อัตราเมล็ดปอเทือง 5 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วไถกลบปอเทืองช่วงออกดอกหรือเมื่ออายุประมาณ 45-50 วัน ในขณะที่ดินยังมีความชื้นแล้วทิ้งไว้ 7-10 วันก่อนปลูกพริก ปอเทืองจะช่วยลดประชากรของไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne spp.ในแปลงปลูกพริกได้มากกว่าร้อยละ 60-70 และสิ่งสำคัญยังช่วยควบคุมการระบาดของโรครากปมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การควบคุมการระบาดของโรครากปมของพริก วิธีที่ดีที่สุด คือ การลดประชากรไส้เดือนฝอยชนิด Meloidogyne spp.ในดินปลูกพืช โดยใช้วิธีเขตกรรม คือ
1.การนำโรคออกจากแปลง
2.การไม่นำเชื้อสาเหตุของโรคเข้าแปลงปลูก และ
3.การลดประชากรไส้เดือนฝอยในแปลงปลูก เกษตรกรต้องปลูกปอเทืองในช่วงที่หยุดพักแปลง เพื่อช่วยตัดวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอยก่อนการปลูกพริกในฤดูเพาะปลูกต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 8 เมษายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=206504