ไทยญี่ปุ่นจับมือเดินหน้าพัฒนาอาชีพเกษตรกร
เมื่อวันที่ 9 เมษายน 53
ไทยญี่ปุ่นจับมือเดินหน้าพัฒนาอาชีพเกษตรกร
ตามที่นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อปรึกษาหารือกับทางการของประเทศญี่ปุ่นในความร่วมมือด้านสหกรณ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น
โดยการหารือความร่วมมือด้านสหกรณ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ครั้งนี้ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตามโครงการพัฒนาผู้นำกลุ่มอาชีพของสหกรณ์การเกษตรในประเทศไทย ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี 2550-2552 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย เพื่อพัฒนาผู้นำกลุ่มอาชีพในสหกรณ์การเกษตรของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็ง ด้านการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเงิน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการจัดตั้งศูนย์การผลิต และเนื่องจากมีผลการประเมินโครงการโดยฝ่ายญี่ปุ่นเป็นที่น่าพอใจ และมีแนวโน้มที่จะขยายโครงการต่ออีก 1 ปี ตามข้อเสนอของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งฝ่ายไทยมีความประสงค์จะขอรับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และงบประมาณ สนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ ซึ่งจะจัดตั้งใหม่ในเร็ว ๆ นี้
ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรของไทยและญี่ปุ่น ตามที่ได้มีสหกรณ์ของไทยจำนวนหนึ่งได้เชื่อมโยงทำธุรกิจการค้ากับสหกรณ์ของญี่ปุ่นก่อนแล้ว เช่น สหกรณ์การเกษตรท่ายาง จำกัด ทำการค้าขายกล้วยหอมทองปลอดสารพิษกับสหกรณ์ผู้บริโภค โตโตะ รวมทั้งได้มีการหารือเบื้องต้นระหว่างสหกรณ์การเกษตรฮานามากิ จังหวัดอิวาเตะของญี่ปุ่น กับสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด จ.นครราชสีมา ของไทย เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมาแต่ยังไม่มีข้อสรุป ฝ่ายไทยเห็นสมควรผลักดันการเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์การเกษตรฮานามากิ กับสหกรณ์การเกษตรลำพระเพลิง จำกัด โดยเร็ว โดยควรเป็นการร่วมมืออย่างรอบด้าน
ความร่วมมือด้านการร่วมลงทุนจากการที่กรมส่งเสริมสหกรณ์มีนโยบายพัฒนา พื้นที่ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกมาตรฐาน เพื่อป้อนตลาดต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น โดยประสงค์จะร่วมมือกับสหกรณ์และ องค์กรในต่างประเทศ ซึ่งสหกรณ์ไทยพร้อมที่จะผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคในต่างประเทศ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยประสงค์จะขอความร่วมมือให้เรื่อง การนำเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมาให้ความรู้ โดยขณะนี้ได้เริ่มต้นในกรณี การผลิตกล้วยปลอดสารพิษระหว่างสหกรณ์ผู้บริโภคโตโตะ ของญี่ปุ่นกับสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี
สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 1.48 ล้านล้านบาท โดยความร่วมมือด้านการเกษตรเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยสินค้าเกษตรไทยที่ส่งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นประกอบด้วย ส้มโอ มะม่วง และ มังคุด กล้วยหอมทอง
ซึ่งความร่วมมือระหว่างสหกรณ์ของทั้ง 2 ประเทศ นับได้ว่าก่อให้เกิดการค้าขายระหว่างกันอย่างมั่นคงมากยิ่งขึ้นทีเดียว อันจะนำมาซึ่งความมั่นคงในการผลิตภาคการเกษตรของไทยที่ผลประโยชน์พึงได้ตกสู่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์อย่างเป็นกอบเป็นกำ ด้วยไม่มีการผ่านพ่อค้าคนกลางนั่นเอง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 เมษายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=58839
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง