เมื่อวันที่ 12 เมษายน 53
การคัดกรอง การตรวจสอบ นำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อการตรวจสอบอันจะนำไปสู่การแก้ไขตรวจสอบรับรองผลถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากเรามีเทคนิค มีเครื่องมือใหม่ๆ คัดกรองเพื่อค้นหายาใหม่ การทดสอบการออกฤทธิ์ของตัวยาจากสมุนไพรไทย งานเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยด้านอาหาร สารมลพิษในแหล่งน้ำ สารปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่ม หากทำได้เร็วและลดระยะเวลา
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)เป็นหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลการวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากสถาบันการศึกษา สถาบันทางวิชาการและหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนจึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้รองศาสตราจารย์ ดร.อรวรรณ ชัยลภากุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง "เทคนิคการคัดกรองและการวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็ว : เครื่องมือของการค้นหาตัวยาใหม่ การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยทางอาหาร"
วัตถุประสงค์ของการวิจัยเพื่อพัฒนาหลักการ และวิธีการตลอดจนออกแบบเพื่อสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต้นแบบสำหรับการคัดกรองแบบรู้ผลเร็ว และการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากพืชสมุนไพรไทยใช้เป็นแนวทางในการค้นหายาใหม่ พัฒนาหลักการและวิธีการ ตลอดจนออกแบบเพื่อสร้างเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต้นแบบสำหรับการวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็ว เฝ้าระวังและติดตามตัวอย่างทางสิ่งแวดล้อมและอาหาร ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจนำไปต่อยอด หรือพัฒนาในเชิงพาณิชย์และใช้ประโยชน์ได้จริงรวมทั้งสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ และกลุ่มวิจัยจากสถาบันต่างๆ
แผนงานวิจัยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โครงการพัฒนาเทคนิคการคัดกรองแบบรู้ผลเร็ว เพื่อค้นหายาใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบและวิธีการคัดกรอง สมบัติการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระจากสมุนไพรไทยและสารสกัดจากธรรมชาติให้สามารถทราบผลได้อย่างรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในขบวนการค้นหายาใหม่ และโครงการพัฒนาเทคนิคการวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็วเพื่อเฝ้าระวังมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยทางอาหาร ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็วในการรองรับการวิเคราะห์ตัวอย่างจำนวนมากที่ใช้ตรวจวัดสารมลพิษและสารปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและอาหาร รวมทั้งสามารถระบุถึงระดับการปนเปื้อนและอันตรายต่อผู้ที่มีโอกาสสัมผัสหรือ บริโภค
การคัดกรองแบบรู้ผลเร็วเพื่อการค้นคว้าหายาใหม่ พบว่าการศึกษาสมบัติการต้านอนุมูลอิสระมีหลายวิธี เช่นการติดตามพฤติกรรมทางเคมีไฟฟ้าของสารต้านอนุมูลอิสระก็เป็นวิธีที่ได้ผลเร็ววิธีหนึ่ง เนื่องจากปฏิกิริยาทางเคมีไฟฟ้าเป็นปฏิกิริยาที่เร็ว ในโครงการนี้ได้พัฒนาระบบวิเคราะห์แบบอัตโนมัติ ร่วมกับเทคนิคการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า โดยได้พัฒนาขั้วไฟฟ้าที่มีความไวมากขึ้นและสร้างเครื่องมือต้นแบบ ประกอบด้วยแขนกลและระบบการอ่านผลแบบขนานในการเคลื่อนย้ายขั้วไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ สำหรับตรวจวัดปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในถาดไมโครไตเตอร์เพลท 24 หลุม โดยผลวิเคราะห์สารต้านอนุมูลอิสระแอสคอบิคซิคประมาณ 20 ตัวอย่างต่อชั่วโมงซึ่งคณะนักวิจัยจะดำเนินการทดสอบกับตัวอย่างจริง เช่น น้ำผลไม้ในท้องตลาด วิตามินซีเม็ด หรือชา
ส่วนระบบวิเคราะห์อัตโนมัติแบบรู้ผลเร็ว เพื่อเฝ้าระวังมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยทางอาหาร หัวใจของการพัฒนาระบบวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็วนั้น เป็นการลดขั้นตอนการวิเคราะห์ให้น้อยที่สุด กล่าวคือ รวมขั้นตอนการสกัด การกำจัดสิ่งรบกวน และการเพิ่มความเข้มข้นไว้ในขั้นตอนเดียว ก่อนทำการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ โดยการแยกการเตรียมตัวอย่างแบบใหม่ เช่นการสกัดด้วยเฟสของแข็ง หรือการแยกด้วยเมมเบรน นอกจากนี้ยังมีการระบบวิเคราะห์แบบไหลที่ทำให้การตรวจเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ระบบวิเคราะห์อัตโนมัติแบบรู้ผลเร็วเพื่อเฝ้าระวังมลพิษทางสิ่งแวดล้อม พัฒนาวิธีการตรวจหาปริมาณโลหะหนัก เช่น ปรอทและตะกั่วในแหล่งน้ำ พัฒนาตัวดูดซับชนิดใหม่ สามารถสกัดและเพิ่มความเข้มข้นโลหะหนักดังกล่าวได้ในขั้นตอนเดียว ส่วนระบบวิเคราะห์แบบรู้ผลเร็วเพื่อลดความปลอดภัยทางอาหาร เป็นการพัฒนาระบบไฮบริดโฟลอนาไลเซอร์สำหรับการวิเคราะห์ฟอร์มัลดีไฮด์ ที่เจือปนในอาหารซึ่งจะทำให้ทราบถึงอันตรายของอาหารเหล่านั้นและผู้บริโภค ต้องใส่ใจกับอาหารมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 12 เมษายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=207012