เมื่อวันที่ 19 เมษายน 53
ทางเลือกหนึ่งของการลดต้นทุนการผลิต จากฝีมือและมันสมองของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ด้วยวิธีหมักแบบใหม่ที่ให้ผลที่รวดเร็ว ประหยัดเวลา
"การหมักปุ๋ยอินทรีย์" ใช้เอง แม้เป็นทางเลือกหนึ่งของการลดต้นทุนการผลิต แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรมักประสบ "ปัญหาขาดแคลนแรงงาน" ส่งผลให้หลายรายต้องหันไปพึ่ง "ทางด่วน" ด้วยการสั่งซื้อปุ๋ยหมักสูตรสำเร็จมาใช้ ซึ่งโดยรวมนั้นไม่ได้ช่วยให้ต้นทุนลดลงมากนัก
ฉะนี้ นายเรวัตร จินดาเจี่ย เจ้าหน้าที่จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ ไทย (วว.) พร้อมคณะ จึงคิดค้นวิจัย "การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยระบบเติมอากาศแบบลูกหมุน" ขึ้น และทำการทดลองในพื้นที่สถานีวิจัยลำตะคอง ถ.มิตรภาพ ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
นายเรวัตร บอกว่า การหมักปุ๋ยอินทรีย์ชนิดแห้งหรือปุ๋ยหมักนั้น แบ่งเป็น 2 แบบ ตามลักษณะของจุลินทรีย์คือ การหมักแบบไม่เติมอากาศ (static pile) และการหมักแบบเติมอากาศ (active aeration) ซึ่งต้องใช้ขบวนการระบายอากาศที่นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการหมัก ที่ให้ปริมาณจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสม สำหรับการหมักต้องมากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่หากใช้แรงงานคน การกลับกองปุ๋ยแต่ละครั้งต้องใช้ 6-7 คน นอกจากทำให้สิ้นเปลืองแล้วยังเพิ่มต้นทุน อีกทั้งกว่าจะได้ปุ๋ยหมักต้องรอนาน 4-6 เดือน
เพื่อแก้ปัญหาอีกทั้งเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ทีมวิจัยจึงคิดค้นวิธีการหมัก 3 แบบ ซึ่งขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากเลือกสถานที่ควรเป็นที่ร่มสภาพพื้นที่เรียบแน่นไม่ยุบตัวง่าย สำหรับวางซองหมัก เสร็จแล้ววางแนวแปลนสร้างซอง โดยใช้เชือกดึงเป็นแนวหรือบล็อกประสาน วว. กว้าง 12.5 ซม. ยาว 25 ซม. สูง 10 ซม.
ก่อเป็นรูปทรงเหลี่ยมผืนผ้า ด้านในซองหมักขนาด 1.5๚2 เมตร หลังวางแนวเรียบร้อยแล้วเปิดบล๊อก ด้านยาวออก ก่อสร้างซองหมัก ในลักษณะที่ทีมวิจัยออกแบบ เสร็จแล้วเติมอากาศ โดยใช้ท่อ หรือ ไม้ไผ่ทะลวงปล้อง จำนวนหลายอันวางในแนวตั้ง แนวนอน หรือแนวเฉียง เพื่อให้เกิดการระบายอากาศชนิดที่เรียกว่า passive aeration วิธีดังกล่าวพบว่ายังมีข้อจำกัดในกรณีที่วัสดุที่หมักแน่นทึบ ทำให้ระบายได้ไม่ดีเท่าที่ควร
รูปแบบที่สอง คือ ใช้เครื่องเป่าลม ซึ่งต้องลงทุนซื้อพัดลมอัดอากาศ และระบบท่อนำฯเข้าสู่กองปุ๋ย นอกจากทำให้มีต้นทุนสูงขึ้น ยังสิ้นเปลืองค่าไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับเป่าอากาศเข้ากองปุ๋ยในแต่ละวัน ดังนั้น จึงพัฒนารูปแบบสุดท้าย คือ ลูกหมุน (Mechanical roof 's ventilation fan) โดยใช้เป็นชนิดเดียวกันกับลูกหมุนระบายอากาศตามหลังคาบ้าน อาคาร โรงงาน ซึ่งมีความสามารถในการระบายความร้อนได้ดี
และเมื่อนำการเติมอากาศทั้ง 3 รูปแบบมาเปรียบเทียบ ผลที่ได้พบว่า การหมักด้วยระบบใช้ลูกหมุน นอกจากช่วยแก้ปัญหาด้านแรงงาน เกษตรกรยังจะได้ปุ๋ยหมักใช้เร็วกว่าวิธีการกลับกอง 20-30 วัน
สำหรับเกษตรกรรายใดที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-4439-0107 หรือ tistr.or.th/lamtakhong
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 19 เมษายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/77520