ม.เชียงใหม่ส่งเสริม 'ก๊าซชีวภาพ' ในชุมชน ช่วยลดมลพิษในอากาศ-ประหยัดค่าใช้จ่าย
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 53
ม.เชียงใหม่ส่งเสริม 'ก๊าซชีวภาพ' ในชุมชน ช่วยลดมลพิษในอากาศ-ประหยัดค่าใช้จ่าย
บ้านแม่อ้อใน ต.แม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นชุมชนหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประชากรในพื้นที่เป็นชนพื้นเมือง และชนเผ่าต่าง ๆ เช่น เผ่าลีซอ ลาหู่ และไตใหญ่ จำนวนมากกว่า 347 หลังคาเรือน ชุมชนแห่งนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากกลิ่นของมูลสุกรจำนวนมาก ซึ่งปล่อยก๊าซมีเทน และคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแก๊สเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม จากมูลหมูไร้ค่าแถมยังส่งกลิ่นให้ในชุมชน ได้ถูกแปรสภาพมาเป็นพลังงานก๊าซชีวภาพ สร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อแก๊สหุงต้มที่ใช้ในครัวเรือนเดือนละหลายร้อยบาทเลยทีเดียว
นายสมศักดิ์ ปวงลังกา ผู้ใหญ่บ้านแม่อ้อใน และยังเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกรเกือบพันตัว เปิดเผยว่า การเลี้ยงสุกรแม้มีรายได้งดงาม แต่ต้องอดทนต่อเสียงต่อว่าของชาวบ้าน เพราะมูลของสุกรส่งกลิ่นรบกวน รวมทั้งยังมีกองทัพแมลงวัน ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ ชาวบ้าน 150 ครัวเรือน ได้เข้าร้องเรียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ย้ายฟาร์มหมูออกจากพื้นที่ จึงหาทางออกอยู่นาน ในที่สุดเมื่อได้เดินทางไปร่วมงานสัมมนากับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2550 และทราบว่า กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้ให้เงินทุนสนับสนุนเงินลงทุนสร้างบ่อก๊าซชีวภาพเพื่อบำบัดน้ำเสีย และผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งนับเป็นโอกาสดี
ผู้ใหญ่บ้านแม่อ้อใน เปิดเผยอีกว่า ต่อมาจึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วม “โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มเลี้ยงสัตว์” กับทางสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้ รับการสนับสนุนงบประมาณในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพ จากทางโครงการฯ จำนวน 241,250 บาท และงบประมาณที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 841,250 บาท ในการสร้างระบบก๊าซชีวภาพขนาดกลาง 250 ลูกบาศก์เมตร
ซึ่งทำให้ฟาร์มสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปริมาณ 70-100 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และได้นำมาใช้เป็นก๊าซหุงต้มให้ชาวบ้านได้ใช้กันอย่างถ้วนหน้า รวมจำนวนมากกว่า 100 ครัวเรือน นอกจากนั้น ยังได้นำไปให้ทางวัด และโรงเรียนในหมู่บ้านใช้ด้วย ผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านประหยัดค่าก๊าซหุงต้มได้มาก จากเดิมที่แต่ละครัวเรือนเคยซื้อก๊าซหุงต้มใช้เฉลี่ย 160 บาทต่อเดือน แต่หลังจากใช้ก๊าซชีวภาพจากทางฟาร์มทดแทนก๊าซหุงต้ม หลังโครงการประสบผลสำเร็จในฐานะเจ้าของฟาร์มเรียกเก็บค่าบริการ เพื่อนำเงินเข้ากองทุนหมู่บ้านเพียงแค่เดือนละ 50 บาทต่อเดือน ทำให้ชาวบ้านสามารถประหยัดเงินค่าก๊าซหุงต้มได้ครัวเรือนละ 110 บาทต่อเดือนเท่านั้น รวมแต่ละครัวเรือนประหยัดเงินเฉลี่ยได้มากถึง 1,320 บาทต่อปี ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการตัดไม้เพื่อนำมาเป็นไม้ฟืนหรือถ่านเพื่อใช้เป็น เชื้อเพลิงในการหุงต้มด้วย เพราะชุมชนแต่ก่อนต้องเข้าป่าเพื่อตัดไม้มาทำฟืนหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลัว” ใช้หุงหาอาหารในการดำรงชีวิตประจำวันพอตนผลิตก๊าซชีวภาพนี้ขึ้นมา ชาวบ้านก็เลิกเข้าไปตัดไม้ในป่า และหันมาเข้าร่วมโครงการทุกหลังคาเรือน ปัญหาการทำลายป่าก็หมดไป
นายสมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า ทุกวันนี้ภูมิใจที่ได้ช่วยให้ชุมชนได้มีแหล่งพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนใช้ ที่สำคัญระบบก๊าซชีวภาพที่สร้างขึ้น ยังช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากปัญหากลิ่นเหม็นได้เป็นอย่างดี ส่งผลที่ดีต่อสภาพแวดล้อม ที่สำคัญยังช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้
“จากมูลสุกรไร้ค่าส่งกลิ่นเหม็นเป็นที่รังเกียจของทุกคนกลายมาเป็นก๊าซชีวภาพนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการหุงต้มเป็นพลังทางเลือกใหม่ทดแทนพลังงานที่ต้องซื้อมาใช้ในราคาแพง โครงการนี้สร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในชุมชนที่ต้องทนเหม็นกลิ่นขี้หมูทุกวัน ช่วยประหยัดเงินใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัว ลดปัญหาโลกร้อน แก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านในชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โครงการดี ๆ อย่างนี้ควรได้รับการสนับสนุนและนำไปใช้ในอีกหลายชุมชนของประเทศไทยครับ” นายสมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 20 เมษายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=60766
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง