'จอกหูหนูยักษ์' ภัยเงียบแห่งสายน้ำ
เมื่อวันที่ 21 เมษายน 53
'จอกหูหนูยักษ์' ภัยเงียบแห่งสายน้ำ
รูปลักษณ์ที่ดูแปลกตาและสีเขียวสดของ “
จอกหูหนูยักษ์” หากมองผิวเผินหลายคนคงเข้าใจว่าเป็นจอกหูหนูและแหนใบมะขาม ซึ่งเป็นพืชน้ำที่พบโดยทั่วไปตามแหล่งน้ำในประเทศไทย แต่จอกหูหนูยักษ์นี้เป็นพืชต่างถิ่น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศเป็นสิ่งต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติกักพืช โดยห้ามนำเข้าและมีไว้ในครอบครอง เนื่องจาก เป็นวัชพืชน้ำ ที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ถือเป็น “ภัยเงียบแห่งสายน้ำ” ที่ต้องเร่งจัดการให้หมดไปโดยเร็ว ก่อนที่จะเกิดปัญหาซ้ำรอยและรุนแรงยิ่งกว่าผักตบชวา
ดร.ศิริพร ซึงสนธิพร นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เดิมจอกหูหนูยักษ์มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้ ถูกนำเข้ามาในทวีปเอเชียเมื่อประมาณปี 2473 โดยศรีลังกา จากนั้นได้แพร่ระบาดขยายพื้นที่ไปอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นวัชพืชร้ายแรงระบาดไปทุกทวีปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยซึ่งแรกเริ่มนำเข้ามาเพื่อเป็นไม้ประดับในตู้ปลา
วัชพืชชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้รวดเร็วในสภาพน้ำนิ่ง โดยเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าได้ในเวลา 2-4 วัน และในสภาพที่เหมาะสมสามารถเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า ได้ในเวลา 2 สัปดาห์ จาก 1 ต้นสามารถเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ 64,750 ไร่ ในเวลา 3 เดือน มีน้ำหนักสดถึง 64 ตันต่อไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับผักตบชวา ขยายพันธุ์โดยหัก หลุดออกจากต้นเดิมซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่อโตเต็มที่ โดยแตกสาขาใหม่จากตายอดหรือตาด้านข้าง ซึ่งแต่ละยอดอาจแตกยอดข้างออกมาต่อ ๆ กัน ได้ถึง 5 ตา และตานี้สามารถพักตัวได้เมื่อสภาพไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิต่ำและขาดน้ำ
ปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของจอกหูหนูยักษ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในลำน้ำแม่กลอง ตั้งแต่เขื่อนแม่กลอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี พบการแพร่ระบาดครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก เมื่อเขื่อนระบายน้ำเพื่อผลักดันน้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองลงสู่ทะเล จอกหูหนูยักษ์จะหลุดลอยมาตามน้ำและแพร่ระบาดในพื้นที่แม่น้ำแม่กลองตอนล่าง ขณะเดียวกันก็มีการแพร่ระบาดเข้าไปในคลองสาขาและคลองย่อยด้วย อาทิ คลองดำเนินสะดวก คลองบางนกแขวก เป็นต้น นอกจากนั้น เขื่อนแม่กลองยังมีการปล่อยน้ำเพื่อป้อนพื้นที่การเกษตรใน 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ราชบุรี และ เพชรบุรี ซึ่งการแพร่ระบาดมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแหล่งน้ำในพื้นที่การเกษตร เช่น นาข้าว นาบัว และบ่อเลี้ยงปลา
เกษตรกร ประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อบต. และเทศบาลต่าง ๆ ควรร่วมมือกันเร่งกำจัดจอกหูหนูยักษ์ให้หมดไปโดยเร็ว ก่อนที่จะแพร่ระบาดลุกลามและสร้างความเสียหายให้กับแหล่งน้ำมากขึ้น เนื่องจากจอกหูหนูยักษ์เมื่อขึ้นปกคลุมเต็มผิวน้ำแล้วจะทำให้แสงแดดส่องไม่ถึงด้านล่าง ไม้น้ำที่อยู่ใต้ผิวน้ำจะตายเพราะออกซิเจนละลายลงสู่แหล่งน้ำได้น้อย เมื่อเศษซากพืชทับถมกันหนาขึ้นจะทำให้น้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาและสัตว์น้ำ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ขาดออกซิเจนและตายในที่สุด นอกจากนี้จอกหูหนูยักษ์ยังทำให้กระแสน้ำไหลช้า และกีดขวางการคมนาคมทางน้ำด้วย
หากมีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับ “จอกหูหนูยักษ์” สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2940-7409 หรือ อีเมล: ws.doa@ doa.in.th
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 เมษายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=60954
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง