เมื่อวันที่ 21 เมษายน 53
นางกาญจนา ป่านข่อยงาม รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยว่า ปัญหาเพลี้ยแป้งมันระบาดในไร่มันสำปะหลังนับเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความ สำคัญ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศกว่า 8 ล้านไร่ ถูกเพลี้ยแป้งทำลายไปกว่า 6 แสนไร่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น วช. จึงร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน หาวิธีใช้ศัตรูธรรมชาติประเภทแมลงช้างปีกใสเข้ามาควบคุมเพลี้ยแป้งมันไม่ให้มีการระบาดในไร่มันสำปะหลัง
ทั้งนี้ การวิจัยได้ใช้งบเร่งด่วนประมาณ 10 ล้านบาท ตั้งเป้าจะสามารถลดประชากรเพลี้ยแป้งมันฯให้มีการระบาดได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่ 1 และไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่ 2 และเพื่อเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการใช้ศัตรูธรรมชาติประเภทแมลงช้างปีกใสให้แก่เกษตรกร โดยดำเนินการในพื้นที่ อ.พนมทวน อ.เลาขวัญ อ.ห้วยกระเจา อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
นางวรรณา มณฑาทัศน์ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังใน ตำบลรางหวาย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่าแต่เดิม ปลูกมันสำปะหลัง ประมาณ 1,000 ไร่ ใช้มันสำปะหลังพันธุ์ระยอง 5 ได้ผลผลิตประมาณ 4 ตันต่อไร่ และใช้สารธรรมชาติประเภทยาฉุน ใบมะกรูด ตะไคร้ ฉีดพ่นต้นมัน แต่เมื่อเพลี้ยลงต้นมันสำปะหลังกลับพบว่า สารจากธรรมชาติไม่สามารถช่วยอะไรได้ ขณะที่พื้นที่ปลูกถูกทำลายเหลือเพียง 400 ไร่เท่านั้น จึงเข้าร่วมโครงการกับ วช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสนใน โดยใช้แมลงศัตรูธรรมชาติทำลายล้างเพลี้ยแป้งฯและในวันนั้น สองหน่วยงานดังกล่าวได้ร่วมกันปล่อยแมลงช้างปีกใสชนิด plesiachrysa ramburi และmallada basalis จำนวน 2,500 ตัว ซึ่งคาดว่า จะสามารถหยุดยั้งเพลี้ยแป้งเข้าทำลายไร่มันสำปะหลังลงได้และเป็นการใช้วิธีธรรมชาติฆ่าแมลง อันเป็นการลดการใช้สารเคมีรวมทั้งเกษตรกรมีความปลอดภัยอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 21 เมษายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=208135