เมื่อวันที่ 21 เมษายน 53
ปัญหาที่ฟาร์มปศุสัตว์ทั่วไปมักประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ "กลิ่น" จากการขับถ่ายของเสีย รวมทั้งแมลงวันที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งสร้างความรำคาญต่อผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบข้าง เพื่อให้อยู่ร่วมกับชุมชน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้เลี้ยงปศุสัตว์หลายรายต่างหาทางออกนั่นคือ
การสร้างบ่อเก็บกักมูล ซึ่งรูปแบบที่นิยมมากก็คือ "ไบโอแก๊ส" นอกจากลดปัญหาเรื่องกลิ่นยังช่วยลดการใช้พลังงานจากภาครัฐ และล่าสุดฟาร์มสุกรพันธุ์กาญจนบุรี อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ยังได้นำระบบฟอกอากาศมาใช้ภายในฟาร์มแห่งนี้ซึ่งเป็นที่แรกของเมืองไทย
นายสุนทร อิ่มบุญตา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านวิจัยและพัฒนาฯ ซีพีเอฟ.บอกว่า การดำเนินกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นนโยบายหลักของซีพีเอฟ. ที่ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และฟาร์มสุกรก็ได้รับเอานโยบายมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักเสมอว่า ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม อย่างการดำเนินงานที่ผ่านมาของฟาร์มกาญจนบุรี ที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับประหยัดพลังงานและใส่ใจชุมชนรอบข้าง เราเลือกใช้ "ไบโอแก๊ส" ระบบบ่อหมักแบบพลาสติกคลุมบ่อ หรือ Cover Lagoon
เป็นระบบปิดที่ปูพื้นบ่อหมักด้วยวัสดุป้องกันน้ำรั่วซึมลงสู่ผิวดิน คลุมปากบ่อด้วยแผ่นพลาสติกพีอี PE (Polyethylene) ป้องกันกลิ่นออกรวมทั้งแมลงวันที่จะไปรบกวนชุมชน ส่วนน้ำหลังผ่านขบวนการบำบัดจะเติมคลอรีน เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ล้างคอก ฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนจะนำสุกรเข้าสู่โรงเรือน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับพืชผลทางการเกษตร อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง
นางวรรณา ทองยิ้ม เกษตรกรชาวไร่อ้อย บอกว่า น้ำจากฟาร์มที่เอาไปใส่ในไร่อ้อย นอกจากไม่มีกลิ่นเหม็นแล้ว ยังเป็นปุ๋ยชั้นดีที่ช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตได้มาก จากเดิมที่เคยใช้ปุ๋ยเคมี 10 ถุง/ 10 ไร่ ตอนนี้ใช้เพียง 5-6 ถุง ช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตอนนี้เพื่อนบ้านที่ทำไร่อ้อยหลายรายเริ่มหันมาใช้กันแล้ว
นายสุนทร บอกต่อว่า แม้ระบบบำบัดฯที่ใช้มีประสิทธิภาพเพียงใด แต่ก็ยังกังวลว่าอาจมีกลิ่นเล็ดลอดสร้างความรำคาญให้กับชุมชนรอบข้างได้ ดังนั้น เพื่อให้ที่นี่เป็น "กรีนฟาร์ม" อย่างสมบูรณ์ จึงศึกษาดูงานระบบ "ฟอกอากาศ" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีมาจากประเทศไต้หวัน แล้วนำมาปรับใช้ลดกลิ่นที่จะออกจากโรงเรือนภายในฟาร์ม โดยระบบดังกล่าวติดตั้งไว้ด้านหลังพัดลมระบายอากาศบริเวณท้ายโรงเรือนเพื่อลดกลิ่น
สำหรับการก่อสร้าง ชั้นแรก ใช้มุ้งเขียวสเปรย์น้ำเพื่อกรองฝุ่น กลิ่น ชั้นที่สอง เป็นพลาสติกคูลิ่ง แพ็ก ทำหน้าที่ดักจับแก๊สแอมโมเนีย ที่ใช้ระบายความเย็นในโรงเรือน ควบคู่กับการใช้กรดอ่อนดักจับกลิ่นที่เหลืออยู่ และ ชั้นสุดท้าย ติดตั้งระบบชีวภาพใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น กาบมะพร้าว เศษเยื่อไม้ ซึ่งสามารถดึงชักกากย่อยแล้วนำมาใช้ใส่ในไร่สวน ส่วนด้านบนจะเติมวัสดุดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่อง
หลังการใช้งานพบว่า ระบบฟอกอากาศสามารถลดกลิ่นเหม็นและกลิ่นของแก๊สแอมโมเนียที่ออกจากโรงเรือนเลี้ยงสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ภายในฟาร์มและชุมชนรอบข้างมีสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลภาวะรบกวน
มีการนำเทคโนโลยีการผลิตอันทันสมัยได้มาตรฐาน ถูกสุขอนามัยปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาส่งเสริมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง พร้อมทั้งควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ในวันนี้สินค้าปศุสัตว์จากประเทศไทยจึงสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้ทั้งในกลุ่มทวีปยุโรปและแถบเอเชีย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 เมษายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/77908