เมื่อวันที่ 26 เมษายน 53
พริก ผักที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อบริโภคผลผลิตสด และแปรรูปอาหาร ตลอดจนพัฒนาเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และยาที่เพิ่มมูลค่าอย่างสูง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญในการทำให้ประเทศไทยกลายเป็นครัวของโลก
พื้นที่ปลูกพริกของบ้านเรามีมากกว่า 500,000 ไร่ ในขณะที่จังหวัดตาก มีพื้นที่ปลูกประมาณ 25,237 ไร่ เฉพาะ ต.คีรีราษฎ์ อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งมีการเก็บเกี่ยวพริกสำหรับบริโภคผลผลิตสด สามารถจำหน่ายพริกได้วันละมากกว่า 200,000 กิโลกรัม ทำรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนมากกว่า 4 ล้านบาทต่อวัน
ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาวิจัย โครงการศึกษาสถานภาพการผลิตและความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อผลผลิต คุณภาพ และปริมาณสาร capsaicin ในพริกพันธุ์การค้าของประเทศไทย จากฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี บอกว่า จากการศึกษาวิจัยการผลิตพริกในพื้นที่ จ.ตาก ที่เกษตรกรนิยมใช้เป็นพันธุ์พื้นเมืองชื่อ พริกกะเหรี่ยง ที่มีลักษณะทยอยเก็บเกี่ยว ปรับตัวได้ดีกับสภาพการปลูก โดยอาศัยฝน มีกลิ่นหอม รสชาติเผ็ด และเกษตรกรสามารถปลูกพริกร่วมกับการปลูกข้าวไร่ หรือข้าวโพดในฤดูฝน ให้ผลผลิตแปรปรวนตามพันธุ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
คณะวิจัยได้ดำเนินการพัฒนาพันธุ์พริก ที่มีผลผลิตและปริมาณสารแคปไซซินอยด์ (capsaicinoid) สูง ซึ่งสารชนิดนี้เมื่อบริโภคเข้าไปในร่างกายจะช่วยบรรเทาอาการหวัด ลดการอุดตันของเส้นเลือด ลดอัตราเสี่ยงโรคมะเร็ง บรรเทาอาการปวด และช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้อารมณ์ดี เนื่องจากสารแคปไซซินอยด์จะทำให้ต่อมใต้สมองหลั่งเอนดอร์ฟินเป็นเปปไทด์ ขนาดเล็ก (คล้ายมอร์ฟีน) ออกมา จึงทำให้เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตพริกที่ได้
โดยทีมงานวิจัยสามารถรวบรวมพันธุ์พริกพื้นเมือง จ.ตาก ได้จำนวน 399 สายพันธุ์ จากนั้นได้ ประเมิน ลักษณะพันธุ์และคัดเลือกแบบสกัดสายพันธุ์แท้ จ.ลำปาง และ จ.ตาก พบพันธุ์พริกที่พัฒนาได้จำนวน 11 พันธุ์ มีศักยภาพให้ผลผลิตสดมากกว่าหรือเท่ากับ 1.0 ตันต่อไร่ และมีสารแคปไซซินอยด์เฉลี่ย 79,469 Scoville heat unit (SHU) พันธุ์ที่มีสารแคปไซซินอยด์มากกว่า 100,000 SHU มีจำนวน 3 พันธุ์
ต่อมาได้คัดเลือกแบบสกัดสายพันธุ์แท้ 2 ชั่วอายุ และการประเมินพันธุ์ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเกษตรกร ซึ่งสามารถคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ลักษณะต้นแข็งแรง สีและรูปร่างผลดี นำไปใช้ ประโยชน์ทั้งผลผลิตสดและแห้งได้ดี พันธุ์พริกที่ได้รับการคัดเลือก ตั้งชื่อพันธุ์ว่า พันธุ์คีรีราษฎร์ 1 ซึ่งให้ผลผลิตสดและแห้งต่อไร่ เท่ากับ 3.2 และ 0.9 ตัน จำนวนผลต่อต้น 2,253 ผล อัตราส่วนน้ำหนักผลสดและแห้ง เท่ากับ 0.7 และ 0.2 กรัม อายุเก็บ เกี่ยวและช่วงเวลาเก็บเกี่ยว 122 และ 154 วัน
ณ วันนี้ได้นำพริกพันธุ์คีรีราษฎร์ 1 ที่ได้รับการคัดเลือกมอบคืนกลับให้เกษตรกร เพื่อใช้ ประโยชน์ในการผลิตพริกเป็นการค้า และพัฒนาเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์พริกที่มีศักยภาพของประเทศไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 26 เมษายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/78997