เมื่อวันที่ 27 เมษายน 53
ขณะนี้พื้นที่เพาะปลูก "อ้อย" ในจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี กำลังเดือดร้อน เนื่องจากมี "แมลงนูนหลวง" ระบาดอย่างรุนแรง
นายสุเทพ สหายา นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร บอกกับ "หลายชีวิต" ว่า การระบาดของแมลงดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานนับสิบปี โดยอยู่ในช่วงปลายฝนถึงช่วงแล้งของทุกปี ซึ่งทางสำนักวิจัยพัฒนาฯได้ส่งทีมนักวิชาการออกไปตรวจสอบแล้ว พบว่า การระบาดไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไร่อ้อย แต่ยังลุกลามสร้างความเสียหายแก่พืชชนิดอื่น อาทิ ยางพารา มันสำปะหลัง สับปะรด มันแกว ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดฝักอ่อน ไม้ผล รวมทั้ง ต้นยูคาลิปตัส
สำหรับ "แมลงนูนหลวง" เป็นด้วงปีกแข็ง มักพบการระบาดในสภาพดินทรายที่มี pH 6-6.5 และสภาพดินที่มีอินทรียวัตถุ 0.56-0.84% การเข้าทำลายอ้อย มักปรากฏเป็นหย่อมไม่แพร่กระจาย พื้นที่ใดค่อนข้างลุ่มเมื่อมีฝนตกน้ำขัง ตัวหนอนของแมลงนูนหลวงจะเข้าทำลายได้น้อย แต่ถ้าอ้อยปลูกในที่ดอนมักถูกหนอนเข้าทำลายที่ บางครั้ง "ตายทั้งกอ"
โดยสังเกตได้จากไข่ ที่มันปล่อยทิ้งไว้ตามพื้นดิน ซึ่งมีลักษณะสีขาวค่อนข้างกลม คล้ายไข่จิ้งจก เปลือกแข็ง ขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร กว้าง 4 มิลลิเมตร หรืออาจพบ ตัวหนอน ซึ่งลำตัวมีสีขาวนวลโดยตลอดและมีรูปโค้ง หัวกะโหลกเป็นสีน้ำตาลมีขนาดใหญ่และแข็ง ปากมีเขี้ยวใหญ่แข็งแรง
ขา เจริญเติบโตดีมองเห็นได้ชัดเจน แต่มักไม่ค่อยใช้เดิน โตเต็มที่มีขนาด 65-70 มิลลิเมตร กว้าง 20-25 มิลลิเมตร หัวกะโหลกกว้าง 10 มิลลิเมตร พวกมันจะมุดลงดินลึกประมาณ 30-60 เซนติเมตร ก่อนเข้าสู่ดักแด้ ซึ่งมีลักษณะสีขาวนวลหรือสีครีม แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงออกเป็นตัวแก่ ลักษณะสีน้ำตาลเข้ม หนวด ขา ปีกติดอยู่ข้างลำตัว เห็นได้ชัดเจน
ในช่วงตัวเต็มวัยปีกจะแข็ง ค่อนข้างใหญ่ ขนาดยาวประมาณ 32-40 มิลลิเมตร กว้าง 15-20 มิลลิเมตร ส่วนท้ายของปีกมีจุดสีขาวด้านละจุด ตัวผู้ มีสีน้ำตาลดำตลอดลำตัว ส่วนตัวเมีย มีสีน้ำตาลปนเทา สีอ่อนกว่าตัวผู้ทั้งด้านบนและด้านล่างของลำตัว หลังออกจากดักแด้พอเข้าสู่ช่วงเวลาพลบค่ำ พวกมันจะบินว่อนเพื่อจับคู่ ใช้เวลาผสมพันธุ์ประมาณ 15-30 นาที จากนั้นอีก 14-25 วัน ตัวเมียจะบินลงสู่พื้นเพื่อวางไข่ลงดินลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ต่อเนื่อง 3 วัน จำนวน 15-28 ฟอง
ใช้ระยะฟักไข่ 15-28 วัน จึงฟักออกมาเป็นตัวหนอน ซึ่งอาหารของมันในวัยนี้ก็คือรากอ้อยใต้ผืนดิน เมื่ออ้อยไม่มีรากหาอาหาร จึงส่งผลให้ยืนต้นตายยกกอ ส่วนหนอนจะลอกคราบ 3 ครั้ง ในวัยสุดท้ายประมาณต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งระยะนี้หนอนจะเจริญเติบโตรวดเร็ว กินจุมาก เป็นระยะที่สร้างความเสียหายให้แก่รากอ้อยได้มากที่สุด
และเพื่อเป็นการลดปัญหาดังกล่าวเกษตรกรควรใช้แนวทางการผสมผสาน ทั้งไถพรวนดินหลายๆครั้ง รวมทั้งจับตัวเต็มวัย ที่เด็กรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรู้กันว่า สามารถนำมาประกอบอาหาร "เปิบ" ได้อร่อยแท้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 27 เมษายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/79150