เตรียมพันธุ์ข้าวต้านเพลี้ยฯ สำหรับแจกจ่ายเกษตรกร
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 53
เตรียมพันธุ์ข้าวต้านเพลี้ยฯ สำหรับแจกจ่ายเกษตรกร
ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาในด้านปัญหาโรคแมลงศัตรูข้าวระบาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยการตัดวงจร
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคใบหงิกและโรคเขียวเตี้ย ด้วยการไถกลบต้นข้าวในพื้นที่ที่มีการระบาดเพื่อพักนา และส่งเสริมการใช้พันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่มีความต้านทานต่อโรค ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาที่ดินได้ดำเนินการไถกลบต้นข้าวในแปลงนาของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแล้ว ในส่วนของกรมการข้าวก็เตรียมพร้อมจัดการนำพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่มีความต้านทานต่อโรคไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ขณะนี้กรมการข้าวได้เตรียมความพร้อมในการจัดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่มีความต้านทานโรคโดยเฉพาะเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลส่งเสริมให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายนาข้าวในพื้นที่เป้าหมายของโครงการแก้ปัญหาโดยการตัดวงจรของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิก
โดยพันธุ์ข้าวที่กรมฯ จะนำมาส่งเสริมให้เกษตรกรใช้มีอยู่ด้วยกัน 7 พันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์พิษณุโลก 2 กข 29 กข 31 กข 41 และสุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 และสุพรรณบุรี 3 ซึ่งแต่ละพันธุ์ล้วนแต่ผ่านการวิจัยและพัฒนาจนสามารถต้านทานโรคได้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะพันธุ์พิษณุโลก 2 เป็นข้าวพันธุ์ผสมสามทาง เป็นข้าวเจ้านาสวน ไม่ไวต่อช่วงแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง ลักษณะเด่นคือให้ผลผลิตสูงและสม่ำเสมอประมาณ 807 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดยาว ข้าวสารใส แกร่ง ตลาดมีความต้องการสูง ทำให้ขายได้ราคาดี มีความต้านทานต่อโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคใบหงิกได้เป็นอย่างดี สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่นาชลประทานทุกภาค
พันธุ์ กข 29 เป็นข้าวพันธุ์ผสม ที่มีความต้านทานโรคและให้ผลผลิตสูงเช่นกัน คือให้ผลผลิตประมาณ 876 กิโลกรัมต่อไร่ มีจุดเด่นคืออายุเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 99-103 วัน คุณภาพการสีดี มีปริมาณธาตุเหล็กสูง แต่ควรปลูกในพื้นที่ลุ่มภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนเท่านั้น สำหรับพันธุ์ กข 31 เป็นข้าวพันธุ์รับรองปี 2550 ที่ให้ผลผลิตสูงและสม่ำเสมอประมาณ 738-745 กิโลกรัมต่อไร่ คุณภาพการสีดี มีความต้านทานโรคและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกข้าวพันธุ์นี้คือนาชลประทานในพื้นที่ภาคกลาง
ส่วนพันธุ์ กข 41 เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง อายุการเก็บเกี่ยว 105 วัน เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพการสีดีได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวสูงถึง 46.6% ผลผลิตเฉลี่ย 894 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือตอนล่าง และในส่วนของพันธุ์สุพรรณบุรี 1 เป็นข้าวพันธุ์ผสมที่ให้ผลผลิตสูงประมาณ 806 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นแข็งไม่ล้มง่ายและมีใบสีเขียวเข้ม คอรวงยาว อายุเก็บเกี่ยว 120 วัน คุณภาพการสีดี และมีความต้านทานต่อโรคเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคใบหงิกได้ดี เหมาะต่อการนำไปปลูกในพื้นที่ภาคกลาง พันธุ์สุพรรณบุรี 2 อายุเก็บเกี่ยวสั้น ให้ผลผลิต 700 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานโรคใบหงิกและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และพันธุ์สุพรรณบุรี 3 ให้ผลผลิตสูงและสม่ำเสมอที่ประมาณ 772 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานโรคและแมลงดี เหมาะที่จะปลูกในนาเขตชลประทานในทุกจังหวัดของภาคกลาง
“สำหรับพันธุ์ข้าวที่จะนำไปแจกจ่ายให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลนั้น เป็นพันธุ์ข้าวที่ผลิตขึ้นมาใหม่จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว เนื่องจากต้องการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวเก่าที่เกษตรกรใช้อยู่ เพราะการปลูกข้าวพันธุ์เดิมซ้ำ ๆ จะทำให้ยีนมีความอ่อนแอโดยธรรมชาติ อีกทั้งแมลงศัตรูพืชจะพัฒนาปรับตัวให้แข็งแกร่งสามารถทำลายต้นข้าวได้
ดังนั้นถึงแม้ว่าเกษตรกรจะปลูกข้าวพันธุ์ที่กรมการข้าวแนะนำไว้ทั้ง 7 พันธุ์อยู่แล้ว ก็มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้พันธุ์ใหม่ที่กรมฯนำไปส่งเสริม ไม่เช่นนั้นก็จะพบปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกลับมาทำลายผลผลิตได้อีก โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 นั้นยิ่งต้องปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวใหม่ เนื่องจากการสำรวจพบว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่มีความอ่อนแอต่อโรคและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลมากที่สุดในขณะนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 เมษายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=62077
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง