เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 53
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม "เส้นใยธรรมชาติ" มีจำนวนมากและราคาถูก วงการอุตสาหกรรม จึงนิยมนำไปใช้เพราะย่อยสลายทางชีวภาพง่าย แต่เมื่อนำมาผสมกับ "โฟมพอลิสไตรีน" เป็น "เทอร์โมพลาสติก" เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ แล้วแปรรูปออกมาเป็นแผ่นไม้อัด ฉนวนกันความร้อน หรือภาชนะบรรจุอาหาร กลับย่อยสลายช้า ยากต่อการกำจัด
ฉะนี้ รศ. ดร.มาลินี ชัยศุภกิจสินธ์ ภาควิชาเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมคณะ จึงทำโครงการวิจัย "เส้นใยธรรมชาติต่อสมบัติของแผ่นใยไม้อัดผสมระหว่างโฟมพอลิสไตรีนกับเส้นใย" ขึ้น
"พอลิสไตรีน" (Polystyrene : PS) เป็นพอลิเมอร์เก่าแก่ที่รู้จักกันมานาน มีความแข็ง เปราะแตกง่าย สามารถทำให้เหนียวขึ้นโดยการเติมยางสังเคราะห์ บิวทาไดอีนลงไป ซึ่งเรียกว่าสไตรีน ซึ่งเป็นโคพอลิเมอร์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพและสมบัติให้ดีขึ้นทั้งในด้านความเหนียว ทนความร้อน
รศ.ดร.มาลินี บอกถึงที่มาการวิจัยว่า แผ่นใยไม้อัดจากเส้นใยอ้อยผสมโฟมพอลิสไตรีน และโฟมช่วยให้สมบัติโค้งงอสูงขึ้น และหากใช้เส้นใยมะพร้าวแทนใยอ้อยจะช่วยลดการดูดซึมน้ำของแผ่นไม้อัดที่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปมักประสบปัญหา ดังนั้น การนำเอาวัสดุเหลือทิ้งมาผสม นอกจากช่วยลดปัญหา "ขยะโฟมพอลิสไตรีน" และ "ขยะทางการเกษตร" ยังเป็นอีกช่องหนึ่งที่จะ ช่วยเพิ่มมูลค่าวัสดุเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ในอนาคต
สำหรับขั้นตอนการทดลอง เริ่มจากเอาเส้นใยมะพร้าว เส้นใยชานอ้อย เส้นใยสับปะรด และเส้นใยจากต้นกล้วยน้ำว้า นำมาหั่นให้เป็นท่อนตามแนวเส้นใย อบแห้งที่อุณหภูมิประมาณ 100 ํC เป็นเวลา 24 ชั่วโมง บดด้วยเครื่อง ทำการแยกขนาดเส้นใยที่ได้ด้วยตะแกรงขนาด 21®50 เมช (mesh) นำโฟมพอลิสไตรีนเหลือทิ้งมาบดย่อยให้มีขนาดเล็กลง ผสมกับกาวฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ในสัดส่วนที่ทีมวิจัยคิดค้น
จากนั้นขึ้นแผ่นใยไม้อัด โดยนำโฟมพอลิสไตรีนที่บด (ขั้นต้น) เส้นใยธรรมชาติ มาอบแห้ง ชั่งน้ำหนักอัตรา 85:15 ผสมในถังผสมแล้วค่อยๆเทกาว ตามด้วยฟีนอลฟอร์มาลดีไฮด์ 15 เปอร์เซ็นต์ ลงไปทีละน้อยพร้อมกับปั่นกวนสาร เพื่อให้กาวกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งเทกาวหมด นำไปอัดแผ่นโรยวัตถุดิบบนบล็อกขนาด 30®30®0.9 เซนติเมตร วางแผ่นพลาสติกปิดบนวัตถุดิบ ตามด้วยแผ่นเหล็กเป็นชั้นบนสุด แล้วอัดแผ่นโดยใช้อุณหภูมิในการอัดร้อนที่ 100 ํC เป็นเวลา 10 นาที
จะได้แผ่นใยไม้อัดจากเส้นใยธรรมชาติแต่ละชนิด ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 7 วัน นำมาทดสอบด้านการพองตัว การดูดซึม สมบัติเชิงกล และการดูดเสียง ให้ผลว่า แผ่นใยไม้อัดผสมฯเส้นใยกล้วยน้ำว้า พองตัวมากที่สุดเพราะมีปริมาณลิกนินน้อย แผ่นใยไม้อัดผสมฯเส้นใยอ้อย ดูดน้ำได้ดีเพราะมีช่องว่างบริเวณผิวโฟมกับเส้นใย
แผ่นใยไม้อัดผสมฯ เส้นใยมะพร้าว มีสมบัติเชิงกลดีที่สุด เพราะเส้นใยมีความยาวต่อเส้นผ่าศูนย์กลางสูง โดยทั้ง 3 ประเภทจะดูดเสียงได้ดี ส่วน แผ่นใยไม้อัดผสมฯ เส้นใยสับปะรด มีสมบัติการดูดเสียงต่ำที่สุด เส้นใยธรรมชาติสามารถนำมาทำแผ่นใยไม้อัดผสมโฟมพอลิสไตรีนได้ดี หากให้ได้คุณภาพควรแยกประเภทการใช้งานให้ถูกต้อง
แม้คุณสมบัติการใช้งานแตกต่างกัน แต่ไม่ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายนานเหมือนผลิตภัณฑ์โฟมที่เราใช้และกลายเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 3 พฤษภาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/80440