เมื่อวันที่ 11 มกราคม 53
มันสำปะหลัง เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนได้เป็นอย่างดีเนื่องจากเป็นพืชที่สามารถ ทนความแห้งแล้งและปลูกได้ในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีโรคและแมลงรบกวนน้อย แต่ในปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต้องประสบปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดสร้าง ความเสียหายให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก เพราะเพลี้ยแป้งสามารถแพร่ระบาดลุกลามขยายเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และในช่วงแล้งนี้การระบาดมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เพลี้ยแป้งนับเป็นศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเป็นอย่างมาก เพราะเพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ใบและยอดมันทำให้ยอดหงิก หากการทำลายรุนแรงมากๆ ทำให้มันสำปะหลังไม่สามารถผลิตหัว หรือผลิตได้แต่ขนาดเล็กมากทำให้เกิดความเสียหายตั้งแต่ 10-100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้การแพร่กระจายเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะเพลี้ยแป้งสามารถติดไปกับท่อนพันธุ์ที่มีการขนย้ายจากแหล่งที่มีการระบาดไปยังแหล่งปลูกมันอื่น ซึ่งจากที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้สำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งขณะนี้พบว่ามีเพลี้ยแป้งระบาดรุนแรงในพื้นที่ 20 จังหวัด จาก 45 จังหวัดที่มีการปลูกมัน พื้นที่ระบาดประมาณ 600,000 ไร่ คาดว่าการระบาดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นในช่วงแล้งที่ใกล้จะมาถึง และคาดว่าการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงคิด เป็นมูลค่าที่ลดลง 2,800 ล้านบาท และหากยังคงมีการระบาดความเสียหายก็จะรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น เกษตรกรจะต้องมีการจัดการแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างถูกวิธีโดยเฉพาะช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังและเตรียมกิ่งพันธุ์ไว้สำหรับปลูกในฤดูกาลต่อไป กรมส่งเสริมการเกษตรขอแนะนำแนวทางการจัดการกิ่งพันธุ์มันสำปะหลังและการดูแลรักษาแปลงในภาวะที่มีเพลี้ยแป้งระบาด ดังนี้
การเก็บกิ่งพันธุ์มันสำปะหลัง เกษตรกรจะต้องคัดกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง และชุบก่อนปลูกด้วยสารเคมีก่อนปลูก ได้แก่ Thiamethoxam 25% wg (หรือ ชื่อการค้า แอคทารา) อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ประมาณ 5 -10 นาที จะสามารถป้องกันเพลี้ยแป้งหลังปลูกได้นาน 1 เดือน
ห้ามเคลื่อนย้ายกิ่งพันธุ์จากแหล่งระบาดไปสู่แหล่งที่ยังไม่มีแมลงระบาด เพราะจะเป็นการกระจายเพลี้ยแป้งไปสู่แหล่งปลูกอื่น ๆ
ในจังหวัดที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ขอให้เกษตรกรอย่าได้นิ่งนอนใจ ให้หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบเพลี้ยแป้ง ให้ดำเนินการดังนี้
- การตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ 2 - 4 สัปดาห์ ในแปลงที่ยังไม่เคยมีการระบาด หากเป็นแปลงที่เคยระบาดควรตรวจแปลงทุกสัปดาห์
- สำรวจเพื่อกำหนดจุดเริ่มระบาดของเพลี้ยแป้ง ในกรณีที่มีการชุบท่อนพันธุ์ก่อนปลูกเกษตรกรอาจตรวจแปลงจากชายขอบแปลงที่มีพื้นที่ติดต่อกับแปลงปลูกมันสำปะหลังของเพื่อนบ้าน
- เมื่อพบจุดเริ่มแพร่ระบาด ให้หักยอด และทำลายกิ่งที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลาย โดยการเผา หรือใส่ถุงดำปิดปากถุงให้มิดชิด และวางตากแดดไว้ หรือขุดหลุมฝังกลบ
- ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ ได้แก่แตนเบียน หรือตัวห้ำ ได้แก่แมลงช้างปีกใส
- เกษตรกรควรเตรียมแปลงพันธุ์มันสำปะหลังที่มีการดูแลอย่างดี ปลอดจากเพลี้ยแป้ง ไว้เป็นแหล่งพันธุ์ของตนเอง
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาดเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรมีความจำเป็นต้องเก็บกิ่งพันธุ์สำหรับฤดูกาลต่อไป ให้คัดเลือกต้นที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรง ตัดส่วนที่มีผลกระทบจากเพลี้ยแป้งเข้าทำลายทิ้ง คือส่วนที่ข้อและปล้องสั้น และถี่กว่าปกติ จากนั้นนำกิ่งพันธุ์เหล่านั้นชุบสารเคมีตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และวางตั้งกองไว้ ลักษณะการวางกองให้โปร่งกว่าปกติ ควรมีการตรวจเป็นระยะๆ ว่ามีเพลี้ยแป้งเกิดขึ้นหรือไม่ หากมีต้องใช้สารเคมีฉีด และเมื่อถึงช่วงเวลาที่จะปลูกให้ชุบท่อนพันธุ์อีกครั้งหนึ่ง หากเกษตรกรต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือศูนย์บริหารศัตรูพืชในพื้นที่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 11 มกราคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=194725