ให้ปลูกข้าวปีละ 2 หน 22 จังหวัดนำร่อง
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 53
ให้ปลูกข้าวปีละ 2 หน 22 จังหวัดนำร่อง
จากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ รวมทั้งเรื่องแมลงศัตรูพืชระบาดทำลายนาข้าว ซึ่งเกิดจากการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ จึงได้เร่งรัดจัดทำโครงการจัดระบบการปลูกข้าวขึ้น เพื่อให้มีการปลูกข้าวปีละไม่เกิน 2 ครั้ง โดยงดเว้นการปลูกข้าวแบบต่อเนื่องทั้งปี ให้มีการใช้น้ำไม่เกินปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ขณะเดียวกันยังเป็นการตัดวงจรการระบาดศัตรูข้าว และรักษาระบบนิเวศในนาข้าวให้มีความสมดุล
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า มีเป้าหมายดำเนินการในระยะแรกในพื้นที่ 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุทัยธานี ชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก ฉะเชิงเทรา ราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และเพชรบุรี โดยมีเกณฑ์ที่ใช้เป็นกรอบในการคัดเลือก คือ มีพื้นที่ ตั้งแต่ 1 แสนไร่ขึ้นไป หรือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือเป็นพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมทั้งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทานตั้งแต่ 1.5 แสนไร่ ขึ้นไป สามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี จากจำนวนพื้นที่ในระยะยาวที่จะดำเนินการจัดระบบการปลูกข้าวทั่วประเทศทั้ง สิ้น 9,532,672 ไร่
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้กำหนดระบบการปลูกข้าวตามช่วงเวลาใหม่ เป็น 4 ระบบด้วยกัน คือ 1. ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 1 ข้าวรอบที่ 1-ข้าวรอบที่ 2-พืชหลังนา 2. ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 2 ข้าวรอบที่ 1-ข้าวรอบที่ 2- เว้นปลูก 3. ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 3 ข้าวรอบที่ 1-พืช หลังนา-ข้าวรอบที่ 2 และ 4. ระบบการปลูกข้าวแบบที่ 4 ข้าวรอบที่ 1-เว้นปลูก-ข้าวรอบที่ 2
นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับมาตรการในการบริหารการดำเนินงาน จะมีทั้งมาตรการบังคับ เช่น การบริหารจัดการน้ำ โดยกำหนดให้มีการจัดสรรน้ำในการปลูกข้าวตามช่วงเวลาปลูกข้าวตามแผนของระบบการปลูกข้าว และการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรกรณีประสบภัยพิบัติ เป็นต้น ส่วนมาตรการจูงใจนั้นรัฐจะให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชหลังนา เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น รวมถึงการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตพืชหลังนาที่ได้จากการจัดระบบการปลูกข้าว ซึ่งจากมาตรการปรับระบบการปลูกข้าวจะส่งผลทำให้เกษตรกรและประเทศสามารถลดความเสี่ยงต่อสภาวะขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปีถัดไปในกรณีที่มีฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ ปกติ และลดปริมาณการใช้น้ำในการปลูกข้าวได้ฤดูละประมาณ 1,200-2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ขณะเดียวกัน ยังทำให้เกษตรกรได้มีเวลาพักดินที่จะเป็นการตัดวงจรโรคและแมลง ซึ่งจะเป็นการลดภาระงบประมาณของรัฐบาลในการช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง และที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนในการผลิตข้าวต่อไร่ลงได้ประมาณฤดูละ 841 บาทต่อไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามข้อมูลการสำรวจของกรมพัฒนาที่ดินระหว่างการปลูกข้าวปีละ 5 ครั้ง กับการปลูกข้าวปีละ 2 ครั้งแล้วพักดินเพื่อปลูกพืชอื่นคั่นนั้น ได้ผลผลิตไม่ต่างกัน
หรือสรุปได้ว่าการปลูกข้าวน้อยครั้งเกษตรกรลงทุนน้อยแต่สามารถได้ข้าวคุณภาพดีหรือมากกว่าการปลูกข้าวปีละหลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากการใช้ดินอย่างหักโหมไม่ได้พัก ทำให้ดินเกิดความเสื่อมโทรมเร็ว เกษตรกรจึงต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการใส่ปุ๋ยเคมี ขณะที่การปลูกข้าวน้อยครั้ง แล้วมีการปลูกพืชตระกูลถั่วคั่น กลับเป็นการเติมธาตุอาหารให้กับดินทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ สามารถลดต้นทุนการผลิตแถมได้ผลผลิตที่คุ้มค่ามากกว่า ดังนั้น แนวทางปรับระบบการปลูกข้าวใหม่ของกระทรวงเกษตรฯ จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปลูกข้าวอย่างยั่งยืน และช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงจากภัยแล้งและโรคแมลงศัตรูพืชได้ด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=64680
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง