เกษตรกร GAP ดีเด่นแห่งชาติ ปี 2553
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 53
เกษตรกร GAP ดีเด่นแห่งชาติ ปี 2553
"ธนิดา ขุนนา” อดีตผู้รับเหมาก่อสร้างและทำธุรกิจส่วนตัวหลายบริษัท จำต้องล้มเลิกกิจการเนื่องจากปัญหาสุขภาพ ได้ผันชีวิตเข้าสู่ภาคเกษตรโดยพลิกฟื้นที่นา จำนวน 50 ไร่ ในพื้นที่ ต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษไว้บริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้รักสุขภาพ ซึ่งกระบวนการผลิตพืชผักของธนิดาได้ดำเนินตามระบบการจัดคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2550 ส่งผลให้ฟาร์มผักของเธอประสบความสำเร็จทั้งการผลิตและการตลาด ได้รับคัดเลือกเป็น เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2553
นางธนิดา ขุนนา กล่าวว่า ได้เริ่มพัฒนาพื้นที่แปลงนาเดิมเพื่อปลูกพืชผักปลอดภัยจากสารพิษเมื่อปี 2548 เบื้องต้นได้เร่งปรับปรุงบำรุงดินที่มีสภาพเป็นดินเหนียวให้เหมาะสมต่อการปลูกผัก ทั้งยังได้เร่งพัฒนาระบบน้ำโดยขุดคลองส่งน้ำและขุดบ่อพักเก็บน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกเอง มีการเจาะน้ำบาดาลและติดตั้งเครื่องกรองน้ำพื่อให้ได้น้ำที่สะอาดสำหรับการล้างและแปรรูปผัก ขณะเดียวกันยังมีการปลูกไผ่ ปลูกกล้วย ไม้ผลและไม้ยืนต้นรอบฟาร์มเป็นกำแพงธรรมชาติป้องกันลมและแมลงศัตรูพืชด้วย
ปี 2550 มีแนวคิดพัฒนาระบบปลูกผักรูปแบบใหม่ โดยปลูกแบบยกแคร่ในโรงเรือนซึ่งประยุกต์จากแปลงปลูกพืชไฮโดรโปนิก ปรับเปลี่ยนจากการปลูกในน้ำมาเป็นปลูกในดินบนแคร่ที่ยกพื้นสูง ประมาณ 80 เซนติเมตรแทน วิธีนี้มีข้อดี คือ สามารถช่วยระบายน้ำ ระบายความร้อน ทั้งยังสามารถลดปัญหาเรื่องโรคแมลงศัตรูพืช และวัชพืชได้ค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าสารเคมีกำจัดวัชพืช และแมลงศัตรูพืชลงได้มาก และความสูงของแคร่ยังช่วยให้ดูแลผักได้สะดวกและง่ายขึ้น
ปัจจุบันมีโรงเรือนปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ ขนาด 90 ตารางเมตร และ 108 ตารางเมตร รวม 52 โรงเรือน ซึ่งมีหลังคากันฝนและมีตาข่ายช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืชด้วย ทำให้ฟาร์มสามารถปลูกผักได้ทุกฤดูกาล พืชผักที่ปลูกมีหลายชนิด อาทิ คะน้า คะน้าฮ่องกง ผักกาดขาว กวางตุ้งฮ่องเต้ กวางตุ้งดอก กวางตุ้งใบ ผักกาดเบกานา ผักกาดขาวปลี ผักโขมแดง ผักโขมเขียว บวบ มะระ ผักบุ้ง ผักหวาน ถั่วฝักยาว แตงกวา กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และบร็อกโคลี เป็นต้น
ที่นี่เน้นการเตรียมดินปลูกผักให้สะอาด โดยจะเก็บตัวอย่างดินเพื่อวิเคราะห์หาคุณสมบัติของดิน และแร่ธาตุอาหารตลอดจนความเสี่ยงของการปนเปื้อนสารพิษ พร้อมปรับปรุงบำรุงดินก่อนปลูกทุกรอบการผลิต ขณะเดียวกันยังเน้นเตรียมต้นกล้าผักให้แข็งแรงก่อนย้ายไปปลูกบนแคร่ ซึ่งการปลูกผักแบ่งเป็น 3 โซน หมุนเวียนกันไป เพื่อให้มีผลผลิต ผักป้อนตลาดต่อเนื่องตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันยังเว้นช่วงให้มีการพักดินด้วยอย่างน้อย 15 วัน แล้วค่อยลงปลูกรอบใหม่ สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องโรคและแมลงสะสมได้
นางธนิดา กล่าวอีกว่า ฟาร์มแห่งนี้มีระบบการให้น้ำ ให้ปุ๋ย รวมทั้งวิธีการป้องกันศัตรูพืชตามระบบมาตรฐาน GAP ของกรมวิชาการเกษตรซึ่งทำได้ไม่ยาก หากหมั่นใฝ่หาความรู้ มีการใส่ใจและทำอย่างจริงจัง ที่สำคัญต้องมีวินัยและมีความซื่อสัตย์ในอาชีพด้วย โดยเฉพาะเรื่องการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ต้องใช้ให้ถูกต้องตามฉลากและคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร นอกจากนี้ต้องหยุดใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยวตามกำหนดด้วย เพื่อป้องกันการตกค้างปนเปื้อน ส่วนการกำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืชในแปลงผักเน้นใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทุกเช้าจะมีการตรวจแปลงเพื่อสำรวจโรคและแมลงศัตรูพืช หากพบจะทำลายทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่ขยายเพิ่มขึ้น
หากสนใจศึกษาเรียนรู้ระบบการผลิตพืชผักตามมาตรฐาน GAP ของฟาร์มแห่งนี้ ติดต่อได้ที่คุณธนิดา เลขที่ 86 หมู่ 4 ต.หนองหัวโพ อ.หนองแซง จ.สระบุรี อนาคตคุณอาจได้ขึ้นแท่น “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ” ก็เป็นได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=64884
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง