มาตรฐาน 'เกษตรอินทรีย์' ส่งออก
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 53
มาตรฐาน 'เกษตรอินทรีย์' ส่งออก
จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นผู้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ตามมาตรฐานเพื่อการยอมรับทั้งในประเทศและส่งออก ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loan : SAL) ในปี 2551-2552 โดยมุ่งสร้างและพัฒนาระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับของประเทศคู่ค้า พร้อมพัฒนาระบบการผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐาน ตลอดจนจัดทำฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการ มกอช. เปิดเผยว่า โครงการ SAL ดังกล่าว ได้มุ่งเน้นพัฒนากลุ่มให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เชิงพาณิชย์ โดยได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อศึกษาวิเคราะห์ชนิดสินค้าเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพในการส่งออก ได้แก่ ข้าว ผักและผลไม้อินทรีย์ อาทิ มะพร้าว กล้วยหอม มะม่วง ลิ้นจี่ สับปะรด ลำไย ข้าวโพด เครื่องเทศและสมุนไพรอินทรีย์ รวมทั้งสินค้าไก่ เป็ด น้ำนม และกุ้งอินทรีย์ มีตลาดส่งออกหลัก คือ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ โดยพบว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยมีแนวโน้มการเติบโตประมาณ 10% ต่อปี
ขณะเดียวกันโครงการฯ ยังได้เร่งพัฒนากลุ่มผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ 20 กลุ่ม ซึ่งมีทั้งสินค้าพืช ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้ และสมุนไพร ปศุสัตว์และประมง ได้แก่ ไก่ เป็ด น้ำนมและกุ้งอินทรีย์ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้า ร่วมบูรณาการพัฒนา ตั้งแต่การประเมินศักยภาพและความพร้อมของกลุ่ม พร้อมส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเกษตรกรนำร่อง ทั้งยังช่วยปรับปรุงระบบควบคุมภายในและวางแนวทางพัฒนาการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อเข้าสู่ระบบการรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบกลุ่ม ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 12 กลุ่ม ที่มีระบบควบคุมภายในที่สามารถนำไปใช้และมีความพร้อมในการขอรับการรับรองแบบกลุ่มได้ และจะเป็นแหล่งผลิตต้นแบบที่กลุ่มอื่น ๆ สามารถเข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ได้
นายนิวัติกล่าวต่ออีกว่า มกอช. ยังมีแผนเร่งจัดทำความเท่าเทียมทางมาตรฐานและระบบการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ การเทียบเคียงทางมาตรฐานและระบบการรับรองกับสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agricultural Movements : IFOAM) ในสินค้าข้าวและกุ้งอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหรัฐอเมริกา (National Organic Program : NOP) ในสินค้าข้าวมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของญี่ปุ่น (Japanese Agricultural Standards : JAS) ในสินค้าพืชผัก และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของจีนใน สินค้าลำไยซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งจะได้กำหนดเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป เพื่อประโยชน์ในการส่งออกและพัฒนาระบบการรับรองของไทย
“ในปี 2553 นี้ มกอช. ได้เร่งสนับสนุนต่อยอดกิจกรรมในโครงการฯ ดังกล่าว อาทิ การจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการผลิตและตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดการผลิตและการจำหน่ายสินค้าตามมาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตที่มีศักยภาพให้เข้มแข็ง ซึ่งจะเป็นต้นแบบการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มอื่นต่อไป พร้อมเร่งสร้างความเท่าเทียมด้านมาตรฐานและระบบการรับรองของไทยกับประเทศคู่ค้าด้วย” ผอ.มกอช.กล่าว
นอกจากนี้ ในเรื่องของระบบการรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั้งแบบรายเดี่ยวและแบบกลุ่ม ขณะนี้หน่วยงานตรวจรับรองภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้พัฒนาความพร้อมในการให้การรับรองตามมาตรฐานอยู่ในระดับหนึ่งแล้วและอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=41969
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง