แนวโน้มผลผลิตและราคาผลไม้ไทย หลังออกสู่ตลาด
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 53
แนวโน้มผลผลิตและราคาผลไม้ไทย หลังออกสู่ตลาด
ขณะนี้ผลไม้ ได้ทยอยออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประมาณการว่า ภาคตะวันออกจะมีผลผลิตทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ออกสู่ตลาดรวมทั้งสิ้น 752,532 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 1.50 ปัจจุบันเกษตรกรได้ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ประมาณ 289,783.19 ตัน (ร้อยละ 38.51) โดยมีผลผลิตออกสู่ตลาดวันละประมาณ 18,902 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ค. 2553) ขณะเดียวกันยังมีลิ้นจี่ภาคเหนือตามติดออกมาชิงตลาดอีกชนิดหนึ่งด้วย งานนี้ต้องอาศัยพี่น้องชาวไทยทั้งประเทศช่วยกันอุดหนุนผลไม้ไทยที่มีคุณภาพดี แถมยังมีราคาถูกมาก
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คณะกรรมการ คชก. อนุมัติวงเงิน 116,724,000 บาท เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก ตามมาตรการดังนี้ คือ 1.มาตรการบริหารจัดการคุณภาพผลผลิต เน้นป้องกันแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ 2.724 ล้านบาท 2.มาตรการรวบรวมและกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต 114 ล้านบาท เป้าหมาย 73,593 ตัน แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลไม้ในจังหวัดแหล่งผลิตและกระจายไปยังตลาดปลายทางอย่างรวดเร็วปริมาณ 45,000 ตัน วงเงิน 90 ล้านบาท เป็นเงินจ่ายขาดชดเชยค่าการตลาดเหมาจ่ายและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอัตรา กก. ละ 1 บาท และค่าขนส่งเหมาจ่าย กก. ละ 1 บาท
นอกจากนั้นยังมีค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์เป็นเงินจ่ายขาดวงเงิน 17.10 ล้านบาท ค่าชดเชยดอกเบี้ย เงินกู้ให้ ธ.ก.ส. ในอัตรา ร้อยละ 3 ของวงเงินกู้ 140 ล้านบาท เป็นเงินจ่ายขาด 4.20 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกู้ยืมเพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายผลไม้ และค่าบริหารจัดการและติดตามโครงการฯ วงเงิน 2.70 ล้านบาท
ผู้ว่าราชการจังหวัดระยองอนุมัติงบประมาณกองทุนไฟฟ้าจังหวัด จำนวน 10 ล้านบาท เพื่อช่วยกระจายผลผลิตมังคุดไปสู่ตลาดปลายทาง โดยได้รับความร่วมมือจาก อบจ.ระยอง ช่วยกระจายผลผลิตผ่าน อบจ. ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันพาณิชย์จังหวัดระยองยังสนับสนุนการนำผลผลิตไปจำหน่ายที่ตลาดเวียดนามด้วย ส่วนสำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรีได้นำกลุ่มเกษตรกรไปจำหน่ายผลไม้ที่ตลาด อ.ต.ก. 8 กลุ่ม เดอะมอลล์ 3 กลุ่ม และพาณิชย์จังหวัดจันทบุรียังได้จัด คาราวานผลไม้ไปจำหน่ายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า นอกจากผลไม้ภาคตะวันออกแล้วยังมีลิ้นจี่จากภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน ที่ออกสู่ตลาดในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตประมาณ 38,614 ตัน ขณะนี้ราคายังทรงตัวอยู่ เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่มาก ส่วนใหญ่จะซื้อขายกันในเกรดคละ เพราะผลผลิตคุณภาพดีมีปริมาณน้อย เพื่อส่งขายตลาดภายในประเทศและเข้าสู่โรงงานแปรรูป
ปัจจุบันคณะกรรมการ คชก. ได้อนุมัติวงเงิน 56.66 ล้านบาท เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาลิ้นจี่ภาคเหนือตามมาตรการดังนี้ คือ มาตรการเร่งรัดกระจายผลผลิตภายในประเทศ ชดเชยค่าขนส่งเหมาจ่ายและค่าบริหารจัดการ กิโลกรัมละ 2 บาท เป้าหมาย 20,000 ตัน เงินจ่ายขาด 40 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียน 7.50 ล้านบาท เพื่อให้กู้ยืมไปจัดซื้อผลผลิตลิ้นจี่จากเกษตรกรเพื่อเร่งระบายออกนอกแหล่งผลิต จำนวน 2,250 ตัน คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี มาตรการส่งเสริมการแปรรูป โดยจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้สถาบันเกษตรกรที่กู้จากสถาบันการเงินเพื่อแปร รูปลิ้นจี่อบแห้ง เป้าหมาย 600 ตัน วงเงินกู้ยืม 6 ล้านบาท อัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเงินจ่ายขาด 0.18 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีมาตรการพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะสนับสนุนค่าจัดทำบรรจุภัณฑ์ เงินจ่ายขาด 1.98 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ โดยจะจัดงานเทศกาลรณรงค์การบริโภคและจำหน่ายลิ้นจี่ในจังหวัดแหล่งผลิต 3 จังหวัด วงเงิน 0.80 ล้านบาท และจัดงานรณรงค์การบริโภคลิ้นจี่ในจังหวัดปลายทางที่มีศักยภาพ 10 จังหวัด วงเงิน 5 ล้านบาท รวม 5.80 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการโครงการฯ วงเงิน 1.20 ล้านบาท
ปีนี้ผลไม้ไทยไม่น่ามีปัญหาด้านการตลาด เพราะปริมาณผลผลิตมีไม่มาก หากวิเคราะห์จากการกระจายตัวและมาตรการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอยู่ในขณะ นี้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 17 พฤษภาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=66095
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง