เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 53
ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ของทุกปีปริมาณ น้ำในแม่น้ำลำคลองหลายแห่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากฝนที่ตกหนักทำให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีแดง ซึ่งชาวประมง เรียกช่วงนี้ว่า "ฤดูน้ำแดง" เนื่องจากฝนได้ชะล้างหน้าดิน และพัดเอาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไปกระตุ้นให้ปลาน้ำจืดผสมพันธุ์และวางไข่ กระทรวงเกษตรฯจึงออกประกาศห้ามทำการประมงในน่านน้ำจืดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม-15กันยายน เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่กำลังมีไข่และวางไข่เลี้ยงลูกไม่ให้ถูกทำลายมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศในบางพื้นที่ของประเทศมีความแตกต่าง กัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงประกาศให้บางจังหวัดมีการคุ้มครองปลาน้ำจืดมีไข่แตกต่างกันไป คือ จ.นครนายก พังงา ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม-31 สิงหาคม / จ.ลำพูน ลำปาง นครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายน / จ.หนองบัวลำภู อุดรธานี ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน-15 ตุลาคม / จ.นราธิวาส ระหว่างวันที่ 1 กันยายน-31 ธันวาคม / จ.พัทลุง ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-31 มกราคม ทั้งนี้หากมีผู้ฝ่าฝืนตามประกาศดังกล่าว ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับเครื่องมือที่อนุญาตให้ทำประมงได้ เป็นเครื่องมือบางชนิดที่ไม่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำอย่างรุนแรงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้ 1) เบ็ดทุกชนิด ยกเว้นเบ็ดราว 2) ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ และชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้าง ไม่เกิน 2 เมตร ทั้งนี้ เครื่องมือดังกล่าวห้ามมิให้ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป 3) ไช ตุ้ม อีจู้ ลัน โปง และโทง และ 4) การทำประมงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
พร้อมกันนี้ทางกรมประมงยังได้ดำเนินการควบคุม ป้องกัน ตรวจติดตามและเฝ้าระวังการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในพื้นที่แหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ และเปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ และหวงแหนทรัพยากรสัตว์น้ำ ในท้องถิ่นของตนเอง โดยการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรประมง และอาสาสมัครอนุรักษ์สัตว์น้ำ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมเฝ้าระวังกับของเจ้าหน้าที่กรมประมงในการดูแล และแจ้งเบาะแสการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 19 พฤษภาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=211624