'เพลี้ยแป้ง' ศัตรูร้ายหมายเลข 1 ของชาวไร่ นิมนต์ 'หลวงพ่อคูณ' ช่วยรณรงค์วิธีป้องกัน
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 53
'เพลี้ยแป้ง' ศัตรูร้ายหมายเลข 1 ของชาวไร่ นิมนต์ 'หลวงพ่อคูณ' ช่วยรณรงค์วิธีป้องกัน
ศัตรูพืชไร่ มีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่ร้ายแรงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังเครียดได้ คือ
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งได้เริ่มระบาดมากในประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2551 ซึ่งได้สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ภาครัฐจึงพยายามช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รู้จักวิธีป้องกันและกำจัด
สำหรับในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีการปลูกมันสำปะหลัง ในเรื่องนี้ นายสวัสดิ์ บึงไกร เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า จากการที่มีเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเริ่มระบาดมากในประเทศ ไทยตั้งแต่ปลายปี 2551 ซึ่งได้สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังไปแล้วนับเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านไร่ ต่อมาปี 2552 มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง แห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี โดยสถาบันพัฒนามันสำปะหลัง ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ได้ริเริ่ม “โครงการห้วยบงปลอดภัยจากเพลี้ยแป้ง” โดยร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ทั้ง 25 หมู่บ้าน ตำบลห้วยบง คิดค้นหาวิธีเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ภายใน ต.ห้วยบง จนประสบความสำเร็จและสามารถลดความเสียหายไปได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วยดี โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยบง
เกษตรจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยอีกว่า โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ลงพื้นที่ ต.ห้วยบง จัดประชุมโครงการนำร่องเกษตรกรที่ทำไร่ปลูกมันสำปะหลัง รวมกันกว่า 30,210 ไร่ ทั้ง 25 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 1,000 ราย พร้อมกับจัดพิธี“ให้สัตยาบันในการป้องกันภัยพิบัติจากเพลี้ยแป้ง อันเป็นศัตรูร้ายหมายเลข 1 ของเกษตรกร” โดยมี นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร มาเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งในพิธีได้ให้เกษตรกรกล่าวให้สัตยาบัน ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาว่า ทุกครัวเรือนที่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลังจะปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้เป็นกฎเหล็กทั้ง 7 ข้อด้วยดังนี้ คือ
1.ให้ขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ปลูกมันสำปะหลัง ต.ห้วยบง
2.ให้แช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยสารเคมี ที่มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ได้พิสูจน์รับรองและมั่นใจว่าป้องกันเพลี้ยแป้งได้แน่นอนทุกท่อนก่อนปลูก
3.ให้แจ้งกรรมการหมู่บ้านเมื่อพบการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มันสำปะหลังทั้ง เข้าหรือออกนอกหมู่บ้าน
4.ติดตามเฝ้าระวังแปลงปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องหลังปลูก
5.ให้แจ้งกรรมการหมู่บ้านเมื่อพบการระบาดของเพลี้ยแป้ง
6. ให้กรรมการหมู่บ้านดำเนินการแก้ไขปัญหาภายในพื้นที่โดยประสานกับหน่วยงาน ต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้อง และ
7.ให้เกษตรกร จากต่างพื้นที่เข้ามาปลูกมันสำปะหลังในเขต ต.ห้วยบง ปฏิบัติตามกฎของชุมชนที่กำหนดขึ้นอย่างเคร่งครัด โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของสมาชิกรายอื่น ๆ ที่ได้ปฏิบัติตามกฎของชุมชนตำบลห้วยบง
นายสวัสดิ์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ส่วนผลที่จะได้รับ 3 ข้อ มีดังนี้ 1.จะได้รับการรับรองในการทำประชาคมหมู่บ้าน ตามมาตรการการช่วยเหลือของภาครัฐ 2.จะได้รับการสนับสนุนแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งเมื่อเกิดการระบาดในแปลงปลูกมัน สำปะหลัง และ 3.จะได้รับการสนับสนุนความรู้ และวิชาการอื่น ๆ ด้านการเกษตร โดยกรรมการหมู่บ้านจะดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนด รวมถึงการประสานกับส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาให้แก่ชุมชนต่อไป
นายอดุลย์ วินัยแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย สาขาห้วยบง กล่าวว่า โครงการนี้นับว่ามีประโยชน์และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในระดับหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดให้เกษตรกรได้ โดยต้นทุนค่าน้ำยาเคมีที่จะนำมาแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังก่อนปลูก ราคาถูกมากเพียงแค่ไร่ละ 20 บาทเท่านั้น หลังจากนั้นให้หมั่นดูแลเฝ้าระวังแปลงปลูกทุก 10 วัน หากพบมีเพลี้ยแป้งเล็กน้อยให้ถอนใส่ถุงดำฝังกลบและใช้ยาฆ่าแมลงฉีดบ้างตามสมควร อย่างไร ก็ตาม หากสงสัยหรืออยากทราบขั้นตอนต่าง ๆ ขอให้สอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น นอกจากนี้คณะทำงานยังได้ไปขอความร่วมมือกับ พระเทพวิทยาคม หรือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” พระเกจิชื่อดังเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนและเกษตรกรชาวไร่ให้ความเคารพนับถือกันเป็นจำนวนมากได้ช่วยรณรงค์อีกทาง
โดย “หลวงพ่อคูณ” บอกกับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังว่า “
ถ้ามึงแช่ ท่อนพันธุ์ ขอให้มึงรวย ถ้ามึงไม่เชื่อกู ไม่แช่ท่อนพันธุ์ มึงจะซวย อย่าประมาท ลูกหลานเอ้ย” ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้จัดพิมพ์แผ่นพับบรรยายชี้แจง แนะนำวิธีการปฏิบัติ อย่างละเอียดไว้ทุกขั้นตอน แจกจ่าย รณรงค์ ไปทั่วทั้งประเทศ สนใจจะสอบถามข้อมูล เพิ่มเติม กรุงเทพฯ โทร. 0-2679-9112-6, ห้วยบง โทร. 0-4424-9770, 08-1925-0374.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 19 พฤษภาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=66534
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง