เมื่อวันที่ 12 มกราคม 53
คณะเกษตรฯ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยการนำของ ผศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร บูรณาการงานวิจัยใช้น้ำส้มควันไม้ที่ใช้เป็นปุ๋ยทางใบมาเป็นปุ๋ยให้แก่นาข้าว ซึ่งผลจากการทดลองต่อเนื่องกว่า 5 ปี นอกจากช่วยเพิ่มผลผลิตให้ได้ไร่ละ 50 ถึง 80 กิโลกรัมแล้ว แถมยังช่วยลดต้นทุนให้แก่เกษตรกรได้ถึงเท่าตัว
ผศ.ดร.ดรุณีบอกว่า เป็นการต่อยอดงานวิจัยจากที่มีรายงานว่าน้ำส้มควัน ไม้ใช้เป็นปุ๋ยทางใบนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้นำมาทดลองใช้กับนาข้าว โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัย รวมเวลา 5 ปี ด้วยวิธีการคือก่อนหว่านข้าว ใช้แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในสารละลายน้ำส้มควันไม้ เจือจาง 300 เท่า เป็นเวลา 2 วัน หลังจากข้าวเติบโตตั้งตัวแล้ว ใช้น้ำส้มควัน ไม้ที่เจือจาง 300 เท่า ฉีดพ่นทางใบทุก 2 สัปดาห์ จะได้ผลผลิตเพิ่มเฉลี่ย 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากข้าวแตกกอมาก เมล็ดใหญ่ น้ำหนักรวงเพิ่มขึ้น
"ผลจากการศึกษาต่อเนื่องในข้าวนานกว่า 5 ปี ยืนยันผลได้ว่าการใช้น้ำส้มควัน ไม้ในลักษณะสารแช่เมล็ดทำให้ต้นกล้าตั้งตัว และการใช้ในลักษณะปุ๋ยทางใบก็ช่วยเพิ่มผลผลิตของข้าวได้โดยเฉลี่ย 50-80 กิโลกรัมต่อไร่ เราจึงได้ขยายผลการวิจัย เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ช่วยลดค่าใช้จ่ายการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึงเท่าตัว ขณะที่ผลผลิตของข้าวก็เพิ่มขึ้น"
ผศ.ดร.ดรุณีกล่าวอีกว่า เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้มีความยั่งยืนในการปฏิบัติ ดังนั้น คณะเกษตรฯ มข. ร่วมกับศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น จัดอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการใช้น้ำส้มควันไม้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว รุ่นที่ 1 บ้านท่าพระทราย ต.โคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยหวังว่าหากเกษตรกรมีเตาเผาขนาดเล็กเพื่อผลิตน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้เอง จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อเกษตรกรในวงกว้างยิ่งขึ้น
“น้ำส้มควัน ไม้มีคุณสมบัติที่ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพดี ทำให้ผู้ใช้เมล็ดพันธุ์ได้ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดี และการฝึกอบรมครั้งนั้น ยังเป็นการฝึกให้รู้จักการทำเตาเผาส่วนรวมเพื่อใช้ในหมู่บ้านด้วย" ผศ.ดร.ดรุณีกล่าว
ทั้งนี้น้ำส้มควันไม้ เป็นผลพลอยได้จากการเผาถ่านไม้ภายใต้สภาพอับอากาศ โดยเมื่อให้ควันที่เกิดจากการเผาไหม้ไม้สดผ่านสภาพอากาศเย็นจะทำให้ควันเกิดการควบแน่น และรวมตัวเป็นของเหลว น้ำส้มควันไม้มีสารประกอบต่างๆ มากกว่า 200 ชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำ 85% กรดอินทรีย์ประมาณ 3% และสารอินทรีย์อื่นๆ อีกประมาณ 12%
ทั้งนี้ สารประกอบที่สำคัญ มีดังนี้ 1.กรดอะซิตริก (กรดน้ำส้ม) เป็นสารกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส 2.สารประกอบฟีนอล เป็นสารกลุ่มควบคุมการเจริญเติบโตของพืชและสารฆ่าแมลง 3.ฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นสารในกลุ่มออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค แมลงศัตรูพืช 4.เอธิล เอ็น วาเลอเรด เร่งการเจริญเติบโตของพืช 5.เมธานอล แอลกอฮอล์ที่ดื่มกินไม่ได้ เร่งการงอกของเมล็ดและราก ใช้ฆ่าเชื้อโรค และออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส 6.อะซีโตน สารละลายวัตถุ ใช้ทำน้ำยาทาเล็บและเป็นสารเสพติด 7.น้ำมันทาร์ เป็นสารจับใบช่วยลดการใช้สารเคมี
สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ ผศ.ดร.ดรุณี โชติษฐยางกูร สาขาพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.0-4334-2949 ต่อ 14
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 11 มกราคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20100111/44255/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%