เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 53
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ผลไม้เศรษฐกิจ 4 ชนิด ของภาคใต้ ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในระยะออกดอก คาดว่า จะมีผลผลิตรวมประมาณ 700,269 ตัน โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดประมาณเดือนมิถุนายน และจะออกมากระจุกตัวพร้อมกันมากในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2552 พบว่า ผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.19 ประมาณการผลผลิตแบ่งเป็น มังคุด 151,853 ตัน ลดลงร้อยละ 4.12 เงาะ 138,311 ตัน ลดลงร้อยละ 2.01 ทุเรียน 306,484 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.44 และ ลองกอง 103,621 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.02
ดังนั้น คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ จึงเห็นชอบให้จังหวัดเป็นแกนหลักในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาของจังหวัด โดยมีส่วนกลางให้การสนับสนุน และให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด เป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการ และกำกับดูแลป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ในพื้นที่ ซึ่งในปี 2553 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เตรียมเสนอของบประมาณ จำนวน 536 ล้านบาท จากคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เพื่อนำมาใช้บริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ เป้าหมายจำนวน 91,433 ตัน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา
ขณะที่มาตรการที่จะนำมาใช้ดำเนินการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้มี 3 มาตรการหลัก ประกอบด้วย 1.พัฒนาคุณภาพผลผลิต เป้าหมาย 20,164 ตัน แบ่งเป็น การบริหารจัดการผลผลิตของสถาบันเกษตรกร และการเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต 2.กระจายผลผลิตออกนอกพื้นที่ภาคใต้ เป้าหมาย 90,933 ตัน ได้แก่ การจัดการและกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต การเพิ่มสภาพคล่องในการรับซื้อ - ขายผลไม้ และการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ และ 3.ส่งเสริมการบริโภคและตลาดผลไม้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 1 มิถุนายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=213384