เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 53
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากผลของการเจรจา FTA อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ได้หยุดชะงักลง ทำให้สหภาพยุโรปได้ให้ความสนใจจะเจรจา FTA กับไทยแบบทวิภาคีแทน ซึ่งในขณะนี้กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดกาประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคเกษตรขึ้น ซึ่ง สศก.ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในการประชุมดังกล่าวด้วย โดยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจต่อการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปมาก และได้เสนอความเห็นในการผลักดันสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพของไทยและสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรปได้มากขึ้น รวมทั้งให้ความสนใจในการริเริ่มทำการค้าโดยกลุ่มเกษตรกรเอง อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าที่สหภาพยุโรปมีการกำหนดมาตรการที่มิใช่ภาษีค่อนข้างเข้มงวดและหลากหลายรูปแบบ
สำหรับ สหภาพยุโรปนั้น ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญและมีการขยายตัวอย่างมากของไทย โดยในช่วงปี 2548 - 2551 พบว่า ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไม่รวมยางพาราเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 68,000 ล้านบาท เป็น 118,000 ล้านบาทในปี 2551 ก่อนที่จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 102,000 ล้านบาทในปี 2552 ซึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญ เช่น ไก่ปรุงแต่ง ทูน่ากระป๋อง ข้าว กุ้ง สับปะรดกระป๋อง เป็นต้น ขณะการนำเข้าจากสหภาพยุโรปมีมูลค่าเพียง 23,000-28,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงดังกล่าว โดยสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น วิสกี้ อาหารสัตว์ อาหารปรุงแต่ง ข้าวมอลต์ หางนม / นมผง ไทยจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรกับสหภาพยุโรปมาโดยตลอดปีละ ประมาณ 50,000 - 90,000 ล้านบาท ดังนั้น การเจรจาจัดทำ FTA กับสหภาพยุโรปจะมีส่วนช่วยให้มีการขยายการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น และถึงแม้จะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรก็ได้เร่งเตรียมการเพื่อกำหนดท่าทีการเจรจาในส่วนของสินค้าเกษตร โดยจะหารือกับหน่วยงานและผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีท่าทีการเปิดตลาดที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 2 มิถุนายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=213511