การเพาะเลี้ยงแมลงดานา
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 53
การเพาะเลี้ยงแมลงดานา
"
แมลงดานา” ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่มีมูลค่าการซื้อขายปีละหลายสิบล้านบาท ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ในสภาพธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีเฉพาะในบางฤดูกาลเท่านั้น ส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ตามท้องตลาดจะนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านคือพม่าและกัมพูชาเกือบทั้งหมด โดยตัวหนึ่งราคาขายอยู่ที่ตัวละ 8-10 บาท ปัจจุบันในบ้านเราจับได้ไม่มากนักเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และพบว่ามีผู้ที่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงแมลงดานาในเชิงพาณิชย์น้อยมาก เหตุผลหนึ่งของการเลี้ยงที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะผลการเลี้ยงมีอัตราการรอดต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากแมลงดานามีพฤติกรรมในการกินกันเองสูง มีการกินกันเองได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต
ผศ.พัชรี มงคลวัย อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ร่วมกับคณะผู้วิจัยจึงคิดค้นงานวิจัยเกี่ยวกับการตลาดและการเพาะเลี้ยงแมลงดานา แมลงดานาที่พบเห็นในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์คือ แมลงดานาพันธุ์หม้อ, แมลงดานาพันธุ์ลาย และ แมลงดานาพันธุ์เหลือง หรือ พันธุ์ทอง ซึ่งพันธุ์หม้อมีลักษณะที่สังเกตได้คือ ขอบปีกมีลายสีทอง และคลุมไม่มิดส่วนหาง ขยายพันธุ์ได้เร็วและมีไข่ดก ซึ่งจะพบพันธุ์นี้วางขายอยู่มากในท้องตลาด พันธุ์ลาย มีลักษณะที่สังเกตได้คือ ขอบปีกมีลายสีทองเช่นเดียวกัน แต่จะคลุมมิดส่วนหาง มีการวางไข่แต่ละครั้งไม่แน่นอน
และ พันธุ์เหลือง หรือ พันธุ์ทอง มีลักษณะที่สังเกตได้ คือ จะมีสีเหลืองทั้งตัวและ จำนวนไข่ไม่แน่นอน เช่นเดียวกับพันธุ์ลาย ตลอดจนมีนิสัย ชอบกินแมลงดานาพันธุ์อื่น ๆ เป็นอาหาร ดังนั้นควรแยกพันธุ์นี้ออกไปเลี้ยงต่างหาก โดยผู้เลี้ยงอาจเก็บรวบรวมลูกแมลงดานาจากแหล่งน้ำในธรรมชาติมาเลี้ยง หรือ จับแมลงดานาตัวเต็มวัยมาเพาะพันธุ์ภายในบ่อดิน โดยรวบรวมแมลงดานาในช่วงต้นฤดูฝน เดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม และ ช่วงปลายฤดูฝนเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม ชีพจักรของแมลงดานา ตั้งแต่ไข่จนถึงตัวแก่มีอายุประมาณ 32-43 วัน โดยมีการลอกคราบ 5 ครั้ง และระยะตัวแก่จนถึงเริ่มไข่ได้ใช้เวลาประมาณ 30-40 วัน รวมใช้เวลาตั้งแต่ฟักออกจากไข่จนถึงระยะการผสมพันธุ์วางไข่ ประมาณ 62-83 วัน
การเร่งให้แมลงดานาผสมพันธุ์และวางไข่ทำได้โดยลดระดับน้ำเดิมที่มีอยู่ในบ่อที่ระดับ 70-80 เซนติเมตร ให้เหลือ 40-50 เซนติเมตร เพื่อหลอกให้แมลงดานาเข้าใจว่าจะเข้าฤดูแล้งแล้วจะได้วางไข่ จากนั้นทดน้ำเข้าไปในบ่อ โดยให้ระดับน้ำสูง 90 เซนติเมตร หรือเกือบเต็มบ่อซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการหลอกให้แมลงดานาคิดว่าฝนตกหรือเข้าฤดูฝนแล้ว จากนั้น อีกประมาณ 2-3 วัน แมลงดานาก็จะมาไข่ที่บนหลักไม้ที่ปักไว้ ควรจะทำในเดือนเมษายน หรือฝนแรกที่ตกลงมา.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=69970
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง