เพิ่มประสิทธิภาพนำเข้าโค-กระบือ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 53
เพิ่มประสิทธิภาพนำเข้าโค-กระบือ
การร่วมมือกันระหว่างกรมปศุสัตว์ของประเทศไทยกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency -JICA) หรือไจก้า มีขึ้นเพื่อร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมไปถึงการกู้คืนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
โดยความร่วมมือระหว่างกันเริ่มต้นเมื่อปี 2544 ภายใต้กรอบสัญญาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ชื่อโครงการ JICA Animal Disease Control in Thailand and Neighboring Countries หรือ JICA ADC project มีระยะเวลา 5 ปี ในการดำเนินโครงการได้เน้นการพัฒนาศักยภาพการควบคุมโรค ในส่วนกลางทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งโครงการได้เสร็จสมบูรณ์ไปเมื่อปลายปี พ.ศ. 2549 และจากความสำเร็จในระยะแรก ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่น กรมปศุสัตว์ของประเทศไทย กัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ และมาเลเซีย เห็นชอบร่วมกันในการเข้าร่วมโครงการ ระยะ 2 โดยขยายขอบเขตของโครงการเป็นโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาค มีระยะเวลา 3 ปี คือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2551 - กุมภาพันธ์ 2554
โครงการระยะที่ 2 เป็นการต่อยอดขยายงานจากส่วนกลางไปชนบท เพื่อจะได้เกิดการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบควบคุมป้องกันโรคสัตว์ในภูมิภาคด้วยการต่อยอดและใช้ประโยชน์จากการสร้างศักยภาพบุคคลากรและสถาบันที่ได้ดำเนินการไว้แล้วในโครงการระยะที่ 1
นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ในขั้นแรกนั้นไจก้าได้เซ็น เอ็มโอยูกับประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านประเทศไทย และโครงการระยะที่ 2 แต่ละประเทศจะลงนามกับไจก้ามีประเทศไทยและมาเลเซียเป็นประเทศหลัก และเพื่อให้โครงการมีความยั่งยืนต่อไปจึงให้แต่ละประเทศสมาชิกเสนอโครงการที่จะพัฒนางานด้านปศุสัตว์ของตน โดยให้เลือกสถานที่โครงการนำร่องตามความสนใจหรือตามนโยบายการพัฒนาของหน่วยราชการแต่ละประเทศ และทางไจก้าเป็นฝ่ายสนับสนุนเครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญ และการฝึกอบรม ส่วนกรมปศุสัตว์จะเป็นประเทศหลักในการให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิก จัดฝึกอบรมหรือดูงาน ระดับภูมิภาคและให้ใช้ สถานที่เป็นที่ตั้งสำนักงานของโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี มอบหมาย แต่งตั้งให้มีเจ้าหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระดับภูมิภาคและคณะกรรมการร่วมของฝ่ายไทย
โครงการนำร่องที่ประเทศไทยได้จัดทำขึ้นคือ โครงการพัฒนาด่านกักกันสัตว์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนให้สามารถตรวจคัดกรองโรคปากและเท้าเปื่อยจากสัตว์นำเข้าได้รวดเร็วขึ้น
ในอดีตด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอนมีการรองรับสัตว์นำเข้าจำพวกโค-กระบือเดือนละกว่า 1,000 ตัว ซึ่งในการนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องส่งตัวอย่างเพื่อตรวจโรคสัตว์เบื้องต้น อาทิ โรคปากและเท้าเปื่อย เอฟเอ็มดี โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือ (ตอนบน) จ.ลำปาง และส่งกลับมายังด่านกักสัตว์แม่ฮ่องสอนอีกครั้ง ทำให้มีความยากลำบากและล่าช้าในการทำงาน ประกอบกับเมื่อปีที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ห้ามการนำเข้าโค-กระบือจากพม่า เนื่องจากตรวจพบรอยโรคปากและเท้าเปื่อย ดังนั้นกรมปศุสัตว์จึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการของด่านเพื่อการตรวจโรคสัตว์ ทำให้การตรวจคัดกรองสัตว์นำเข้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถป้องกันโรคที่จะแพร่มาสู่ประชากรสัตว์ภายในประเทศได้ทันท่วงที
การร่วมมือระหว่างกันไม่เพียงแต่เพิ่มศักยภาพด้านห้องปฏิบัติการ แต่ประเทศไทยยังได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรจากการปฏิบัติงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ญี่ปุ่นและการเข้าไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกรมปศุสัตว์กับไจก้า รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน
นับเป็นการส่งเสริมบทบาทของกรมปศุสัตว์และประเทศไทยในเวทีสากลอีกขั้นหนึ่ง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=70477
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง