ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองช่วยปรับโครงสร้างดิน
เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 53
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองช่วยปรับโครงสร้างดิน
"ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติปุ๋ยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 ให้ความหมายของคำว่า “ปุ๋ยอินทรีย์” ไว้ว่า เป็นปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีที่ทำให้ชื้น สับ บด หมัก ร่อน สกัด หรือด้วยวิธีการอื่น ๆ โดยที่วัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายสมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์ แต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมีและไม่ใช่ปุ๋ยชีวภาพ แต่สามารถนำไปปลูกและให้ธาตุอาหารกับพืชได้” นี่คือความหมายของปุ๋ยอินทรีย์ที่ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีการผลิตใช้กันเองมาก ขึ้นเพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันมีการรณรงค์อย่างกว้างขวางให้ลดการใช้เคมีทุกรูปแบบลง ไม่ว่าจะเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร หรือยาทั้งหลายโดยเฉพาะปุ๋ย เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างต่อเนื่อง แม้ปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินมีธาตุอาหารแต่พืชก็ไม่สามารถดูดซับไปใช้ได้ เหมือนกับการกินข้าวไม่ใส่น้ำแกงก็ฝืดคอ ทำนองเดียวกันกับธาตุอาหารที่พืชก็รับไปไม่ได้ เมื่อมีการรณรงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้น จึงเป็นการทำให้โครงสร้างของดินมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะให้พืชดูดซับสารอาหารไปได้ เพราะฉะนั้นสองอย่างนี้จะต้องผสมผสานควบคู่กันไปเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของพืช ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มาก และมีการพยายามที่จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์จำหน่ายในเชิงการค้ามากขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวันนี้ปุ๋ยอินทรีย์มีการขยายตัวการใช้เพิ่มขึ้นใน 2 ระดับ คือระดับแรกเกษตรกรหรือในกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มสหกรณ์ทำไว้ใช้เอง และระดับที่ 2 คือระดับที่ทำเพื่อการค้าก็มีการลงทุนในธุรกิจนี้มากขึ้น
“ปุ๋ยอินทรีย์ตามมาตรฐานทางวิชาการได้มีการทดสอบมาอย่างต่อเนื่องโดยนักวิชาการกำหนดไว้ว่าปุ๋ยอินทรีย์ ต้องผลิตจากอินทรียวัตถุ และมีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 20% เพื่อที่จะไปปรับโครงสร้างของดิน ทำให้ดินนั้นร่วนซุย โปร่ง และอยู่ในสถานะพอเหมาะที่จะให้พืชดูดซับธาตุอาหารไปใช้ได้” นายสมชาย กล่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการผลิตปุ๋ยอินทรีย์มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ เกษตรกรทำไว้ใช้เอง โดยใช้อินทรียวัตถุที่มีอยู่ในแปลงนา เช่น ซังข้าว แกลบ ตอซังข้าว หรือวัสดุเหลือใช้อื่น ๆ มาทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐมาส่งเสริมการผลิต เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดินเป็นต้น โดยสามารถแน่ใจได้ว่ามีอินทรียวัตถุได้มาตรฐานเต็ม 20% แน่นอน อีกทั้งยังเป็นการลดการเผาตอซังได้อีกทางหนึ่งด้วย สำหรับในส่วนที่ 2 คือ การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในเชิงธุรกิจ เมื่อไรก็ตามที่มีการดำเนินการทำธุรกิจเพื่อการเกษตรจะถูกควบคุมด้วย พ.ร.บ.ปุ๋ยทันที ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการควบคุมการหลอกลวง การเอาเปรียบเกษตรกร ดังนั้น พ.ร.บ. นี้จะเข้ามามีบทบาทในกรณีที่ผลิตเพื่อการค้า อีกทั้งเมื่อตรวจสอบแล้วต้องมีอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 20% ตามมาตรฐานกำหนด
ขณะนี้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าเริ่มมีมากขึ้น ดังนั้นเกษตรกรที่ต้องการซื้อปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้ในแปลงควรต้องดูองค์ประกอบต่าง ๆ ให้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น ชื่อผู้ผลิต แหล่งที่ผลิต การขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร และที่สำคัญต้อง ซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ พร้อมกับขอใบเสร็จรับเงินทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินการเมื่อมีปัญหา หรือถ้าไม่แน่ใจว่าปุ๋ยอินทรีย์ที่ซื้อมานั้นปลอมหรือไม่ ส่งตัวอย่างมาให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบได้
ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่สามารถผลิตใช้เองได้ไม่ยุ่งยาก จึงไม่ควรซื้อควรใช้วัสดุเหลือใช้ในแปลงมาทำกองปุ๋ยหมักเก็บไว้ไม่กี่เดือนก็ใช้ได้แล้ว ผลิตไว้ใช้ในแปลงเองดีที่สุด เพราะเราต้องเสียเงินซื้อปุ๋ยเคมี ไว้ใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ หากเราสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองได้ก็จะช่วยลดต้นทุนลงได้มากเลยทีเดียว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=70745
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง