ตัดวงจรเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 53
ตัดวงจรเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน
เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การระบาด
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ณ สหกรณ์การเกษตร โนนสุวรรณ จำกัด อำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้การต้อนรับ
นายศุภชัย โพธิ์สุ เปิดเผยว่าการระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอ ปะคำ และอำเภอโนนสุวรรณ จังหวัดบุรีรัมย์นั้น จากการสำรวจพบว่าพื้นที่เพลี้ยแป้งระบาดขยายเป็นวงกว้างกว่า 1.2 แสนไร่ จากพื้นที่การเพาะปลูกมันสำปะหลังทั้งจังหวัดกว่า 2.4 แสนไร่ และคาดว่าจะมีแนวโน้มการระบาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณของมันสำปะหลังที่จะผลิตได้ของเกษตรกร
ในเบื้องต้นรัฐบาลได้อนุมัติงบกลางจำนวน 65 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินการแก้ไขและยับยั้งการระบาดของเพลี้ยแป้ง และได้ดำเนินการแล้วในพื้นที่ 600,000 ไร่ นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่การระบาดกลับขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านไร่ ทั้งนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากันอีกครั้ง
สำหรับการแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดต้องให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลัง อาทิ การเผาทำลายซากของมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งระบาด รวมทั้งการพักดินเพื่อฆ่าเชื้อโรค 1-2 เดือน การใช้ท่อนพันธุ์ที่ผ่านการแช่สารเคมี ฯลฯ ทั้งนี้เกษตรกรต้องให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับโดยภาครวมของสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง พบว่ามีการระบาดรวม 45 จังหวัด มีพื้นที่ระบาด 27 จังหวัด โดยมีพื้นที่ระบาดรวม 466,563 ไร่ เพิ่มขึ้น 15,741 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ระบาดรวม 450,822 ไร่
การระบาดที่เพิ่มขึ้นใน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยนาท ระยอง และ กาญจนบุรี มีพื้นที่ระบาดรวม 111,399 ไร่ การระบาดคงที่มี 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชลบุรี สระแก้ว จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ตาก ราชบุรี และสุพรรณบุรี รวมพื้นที่ระบาด 355,164 ไร่
ส่วนจังหวัดที่ไม่พบการระบาดมี 18 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร อุบลราชธานี มหาสารคาม เลย หนองบัวลำภู หนองคาย มุกดาหาร ลพบุรี สระบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย เพชรบุรี อุตรดิตถ์ เชียงราย พะเยา ลำปาง และแพร่
ส่วนมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งประกอบด้วยสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งเหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของเพลี้ยแป้ง มีแปลงปลูกมันสำปะหลังที่เกษตรกรรอการเก็บเกี่ยว เป็นแหล่งอาศัยและแพร่ขยายพันธุ์ของเพลี้ยแป้ง ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ปลูกใหม่เพิ่มขึ้น และเกษตรกรไม่สามารถหาซื้อสารเคมีที่ทางราชการแนะนำให้ใช้เพื่อการแช่ท่อนพันธุ์ก่อนปลูกและการฉีดพ่นเพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งได้ในท้องถิ่น
สำหรับแนวทางป้องกันและแก้ไขมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้ตลอดถึงการสร้างความเข้าใจในการให้ความร่วมมือของเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง ซึ่งล่าสุดการอาศัยช่องทางผ่านทางสหกรณ์ที่มีอยู่ทั่วทุกพื้นที่ที่มีการ ปลูกมันสำปะหลังนับว่าเป็นการดีทีเดียว เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถเข้าถึงเกษตรกรได้โดยตรงแบบเข้าถึงตัวผู้ปลูก ฉะนั้นโอกาสของความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาเพื่อตัดวงจรของเพลี้ยแป้งมัน สำปะหลังก็ย่อมที่จะมองเห็นลู่ทางอย่างเป็นรูปธรรม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 11 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=70968
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง