การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 53
การเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน
ประโยชน์ของไส้เดือนดินในธรรมชาตินั้นจะช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ ปลดปล่อยสารอาหารให้พืช ทำให้ดินร่วนซุย แล้วจุลินทรีย์ที่อยู่ร่วมกับไส้เดือนเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และเป็นแหล่งโปรตีนให้กับสัตว์หลาย ๆ ชนิด เช่น นำไปเลี้ยงปลา สัตว์ปีก เป็นต้น
จากประโยชน์อันหลากหลายของไส้เดือนในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย, อินเดีย ฯลฯ จึงมีการนำไส้เดือนมาเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโต การใช้ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ไส้เดือนเปลี่ยนขยะอินทรีย์ เช่น เศษผัก, ผลไม้, เศษอาหารต่าง ๆ ให้กลายเป็นปุ๋ยหมักช่วยลดการฝังกลบขยะ ประโยชน์ในด้านการเกษตรนั้น ปุ๋ยหมัก หรือ น้ำหมัก ที่ได้จากการย่อยสลายของไส้เดือนสามารถนำมาใช้ในการเกษตรอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี ด้านอาหารสัตว์ ไส้เดือนถูกนำเป็นโปรตีนในขั้นตอนการเลี้ยงทั้งในรูปไส้เดือนเป็นและทำเป็นผง
ด.ต.มานะ ชิราพฤกษ์ เป็นผู้หนึ่งที่มีความสนใจในการเลี้ยงไส้เดือนดิน และเล่าว่า “ไส้เดือนจะเพิ่มมูลค่าขี้วัว หรือ มูลสัตว์ จากตันละ 1,500 บาท ให้เป็นเงิน 15,000 บาท ต่อตัน” วิธีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน เริ่มจากทำที่อยู่ของไส้เดือน นำมูลสัตว์เช่น ขี้วัว มาตากแดดให้แห้งสนิทราว 3-5 วัน ก็นำขี้วัวมาป่นให้ละเอียดด้วยเครื่อง โดยดัดแปลงมาจากเครื่องโม่น้ำแข็ง, นำก้อนเชื้อเห็ดเก่า หรือ ขุยมะพร้าว หรือ ขี้เลื่อย มาป่นให้ละเอียด เช่นเดียวกับขี้วัว
จากนั้น นำขี้วัวป่น 7 ส่วน ผสมกับก้อนเชื้อเห็ดเก่า 3 ส่วน คลุกเคล้าเข้ากันดีแล้วนำวัสดุดังกล่าวไปแช่น้ำสัก 3 คืน โดยเช้าของทุกวันให้เปลี่ยนน้ำใหม่ทุกครั้ง การแช่น้ำจะเป็นการลดความเค็มของปุ๋ยคอกและกำจัดแมลงศัตรูที่อาศัยในวัสดุ, จากนั้นนำวัสดุไปกองในแปลงเพาะเลี้ยงที่จะใช้การก่ออิฐบล็อกสูงเพียง 2 บล็อก กองให้วัสดุมีความหนาราว 10 เซนติเมตร แล้วทิ้งวัสดุดังกล่าวสัก 7 วัน และยังให้วัสดุมีความชื้นตลอด โดยการรดน้ำให้วิธีการทดสอบว่าวัสดุเลี้ยงไส้เดือนใช้ได้หรือยัง ก็จะใช้มือสอดเข้าไปในวัสดุ ถ้าวัสดุมีความเย็นก็นำไส้เดือนเลี้ยงได้ หากยังมีความร้อน หรือ ยังอุ่นอยู่ถือว่ายังใช้ไม่ได้, นำไส้เดือนลงปล่อยในวัสดุ โดยฝังไส้เดือนบริเวณ 1 กิโลกรัม ต่อ พื้นที่ 1 ตารางเมตร โดยหากเป็นจำนวนตัวแล้วใน 1 กิโลกรัม ถ้าเป็นไส้เดือนสายพันธุ์แอฟริกาจะมีประมาณ 350-400 ตัว กิจวัตรในการดูแลไส้เดือน ที่จะต้องรดน้ำให้ความชื้นแก่วัสดุเลี้ยงทุก ๆ 2-3 วัน โดยดูตามสภาพอากาศประกอบ ให้อาหาร เช่น เศษผัก, ผลไม้, เศษอาหารกากถั่วต่าง ๆ หญ้า, ฟาง ฯลฯ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง โดยการฝังให้เป็นจุด ๆ
ภายใน 3 เดือน วัสดุที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนหรือปุ๋ยคอกจะถูกย่อยสลายจนหมด จนกลายเป็นปุ๋ยหมักมูลไส้เดือน ผู้เลี้ยงสามารถนำปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดังกล่าวเก็บไปจำหน่ายได้ โดยทั่วไปจำหน่ายปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนกิโลกรัมละ 30 บาท
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=347&contentID=71446
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง