เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 53
ปลาบึก ถือว่าเป็นปลาที่มีความสำคัญต่อประชาชนอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงที่ยาวที่สุดในตะวันออกเฉียงใต้ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์พันธ์พืชและสัตว์ป่า Conventional on International Trade In Endangered Species (CITES) Of Wild Fauna And Flora กำหนดให้ปลาบึกเป็นปลาที่กำลังสูญพันธุ์ (Endanger Species) ต่อมาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ได้ทำการศึกษาวิจัยด้านองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับปลาบึก จึงทำให้การเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาบึกจากบ่อดินประสบความสำเร็จในการเพาะ ผสมเทียมพ่อแม่พันธุ์ รุ่นที่ 1 ในปี 2545 ได้ลูกปลาบึกจำนวนมากพอกับการเลี้ยงและบริโภค ประกอบกับปลาบึกมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีและความอร่อยของปลาบึก จึงสามารถที่จะพัฒนารูปแบบการเพาะเลี้ยงปลาบึกในเชิงพาณิชย์
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดทำโครงการอบรมการเพาะเลี้ยงปลาบึกแบบมืออาชีพระดับประเทศ ซึ่งเป็นทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยประเภทโครงการสร้างความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและผลงานประดิษฐ์คิด ค้นประจำปี 2552 ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับปลาบึกให้แก่ผู้เลี้ยงปลาบึก และบุคคลทั่วไปที่สนใจ ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปลาบึกมากขึ้น และสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาบึกเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมถึงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ปลาบึก สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลการผลิตและแข่งขันได้ ทำให้เกษตรกรมีการเลี้ยงปลาบึกเพิ่มมากขึ้นเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศและการส่งออกมากขึ้น
สำหรับปลาบึกนอกจากเป็นปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ จำศีลกินอาหารจำพวกพืชเท่านั้น ผู้ใดได้บริโภคเนื้อปลาบึกจะประสบแต่โชคดีเป็นผู้มีบุญ ประกอบกับเนื้อปลาบึกมีรสชาติดี เนื้อแน่นเป็นแว่น ไข่มีขนาดเท่าเม็ดพริกไทย นิยมนำมาทำส้มไข่ปลา ชาวจีนโบราณเชื่อว่าใครได้ลิ้มรสปลาบึกแล้วจะมีอายุยืนยาว สติปัญญาเฉียบแหลมประดุจขงเบ้ง จึงให้สมญานามปลาชนิดนี้ว่า "ปลาขงบ้ง" ส่วนการเรียกชื่อ "ปลาบึก" นั้น คนไทยรู้จักชื่อนี้มาเป็นเวลาช้านาน คำว่า "บึก" อันเป็นที่มาของชื่อปลาชนิดนี้เป็นภาษาท้องถิ่น นัยว่าเป็นภาษาโซ่งทางลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งมีความหมายว่า "ใหญ่" และมีอีกคำหนึ่งในภาษาถิ่นล้านนาและภาษาอีสานที่มีความหมายใกล้เคียงกันคือ "หึก" หมายความว่า "ใหญ่ ทึบ"
การผสมเทียมลูกปลาบึกจากพ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำโขงเลี้ยงในบ่อดินจนเป็นพ่อแม่พันธุ์ อายุ 16 ปี สามารถประสบผลสำเร็จ ในปี 2544 และ ปี2545 ที่ภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผสมเทียมได้สำเร็จ จนปี 2547 จากพ่อแม่พันธุ์อายุ 10 ปี และ 12 ปี ได้ลูกปลาบึก ขนาด 3-4 นิ้ว เพื่อใช้ทดลองวิจัยเลี้ยงปลาบึกในบ่อดิน จำหน่ายให้เกษตรกรและแจกให้หน่วยงานราชการ ตลอดจนปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมทั้งแม่น้ำโขง ปลาบึกเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายมีอัตราการเจริญเติบโตดีให้ผลผลิตสูง เมื่อเลี้ยงในบ่อดินที่มีอัตราการปล่อยเหมาะสม หรือแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่
ดังนั้นหากสามารถพัฒนาปลาบึกให้เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจได้ ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ส่งผลให้ลดการจับปลาจากแม่น้ำโขง ลดการนำเข้าปลาธรรมชาติจากต่างประเทศ ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารโปรตีนอย่างดีให้แก่ประชากร อย่างไรก็ตามการส่งเสริมการเลี้ยงปลาบึกยังต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมและป้องกัน แก้ไขปัญหาอีกหลายประการ เช่นระบบการผลิตและการพัฒนาสายพันธุ์ปลาบึกจากการเลี้ยงที่ดี การรับรองสายพันธุ์หรือการจดทะเบียนฟาร์มปลาบึก ปลาบึกปลอมหรือลูกปลาบึกลูกผสม การขยายตลาดปลาบึกในประเทศให้กว้างขึ้น ปลาบึกจึงเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อประเทศและภูมิภาค อินโดจีน และประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มีองค์ความรู้ มีเทคโนโลยีทุกด้าน และมีโอกาสสูงในการพัฒนาเป็นปลาเศรษฐกิจตัวใหม่
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 14 มิถุนายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=215032