'แจสแมน' หรือจะสู้ 'จัสมิน' จัดแผนกู้วิกฤติ 'หอมมะลิไทย'
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 53
'แจสแมน' หรือจะสู้ 'จัสมิน' จัดแผนกู้วิกฤติ 'หอมมะลิไทย'
ข้าวหอมมะลิไทย ถือเป็นสุดยอดข้าวคุณภาพระดับโลก ไม่มีประเทศไหนที่มีข้าวหอมมะลิเหมือนอย่างประเทศไทย และไม่มีประเทศไหนที่มีข้าวเมล็ดยาวและมีกลิ่นหอมชวนรับประทานเท่าข้าวหอมมะลิของไทย ปัจจุบันข้าวหอมมะลิที่นิยมปลูกและบริโภคกันอย่างแพร่หลายคือพันธุ์ ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข.15 แต่ราคาข้าวหอมมะลิค่อนข้างตกต่ำลงมาเรื่อย ๆ เนื่องจากข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ให้ผลผลิตสูงกว่าข้าวหอมมะลิ 105 โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 80-100 ถังต่อไร่ ปลูกได้หลายครั้งต่อปี และสามารถปลูกได้ดีในที่ลุ่มบริเวณที่ราบภาคกลาง ขณะที่ข้าวหอมมะลิ 105 ให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 30-40 ถัง และปลูกได้ดีในบางพื้นที่เท่านั้น ทางรัฐบาลจึงส่งเสริมให้ชาวนาเน้นการปลูกข้าวพันธุ์ ปทุมธานี 1 มากกว่า ซึ่งข้าวพันธุ์ “ปทุมธานี 1” แม้ว่าจะมีความหอมคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่ “ไม่ใช่” ข้าวหอมมะลิ
เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวที่สร้างความวิตกให้กับชาวนาและรัฐบาลไทยไม่น้อย เมื่อศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรมมหาวิทยาลัยลุยเซียนา มลรัฐลุยเซียนา สหรัฐฯ ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ได้ค้นคว้าและพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ “แอลเอ” 2125 มีคุณภาพทัดเทียมกับข้าวหอมมะลิไทย และตั้งชื่อคล้ายคลึงกันว่า “แจสแมน” (JAZZMAN) เพื่อแข่งขันกับข้าวหอมมะลิไทย ในขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยใช้ ชื่อภาษาอังกฤษว่า “จัสมิน” (Thai jasmine rice) (Official name “Thai Hom Mali”) ซึ่งมีคุณสมบัติและมีกลิ่นหอมใกล้เคียงข้าวหอมมะลิไทย และยังให้ผลผลิตสูงกว่าถึง 3 เท่า จึงอาจเป็นคู่แข่งสำคัญที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิไทย โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา และประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ อาทิ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และสาธารณรัฐเบนิน เป็นต้น
สำหรับข้าวแจสแมน ศูนย์วิจัยและค้นคว้าเกษตรกรรมสหรัฐ ได้เริ่มการทดลองผสมพันธุ์ตั้งแต่ปี 2509 โดยนำข้าวกลิ่นหอมของจีนสายพันธุ์ 96a-8 มาผสมกับข้าวเมล็ดยาวของรัฐอาร์คันซอใช้เวลา 12 ปีจึงเป็นผลสำเร็จ สามารถให้ผลผลิตโดยเฉลี่ยประมาณไร่ละ 1,265 กิโลกรัม ขณะที่ข้าวไทยมีผลผลิตประมาณไร่ละ 400 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งชาวนาผู้ปลูกข้าวดังกล่าวยืนยันว่า ชาวนาในลุยเซียนาจะหันมาปลูกข้าวนี้มากขึ้น และช่วยทดแทนการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยได้
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกสูง โดยปี 2552 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวหอมมะลิ รวมกว่า 2.63 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 68,577.7 ล้านบาท และปี 2553 นี้ ได้ส่งออกไปแล้วทั้งสิ้น 2.10 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 5,776.8 ล้านบาท
ทั้งนี้การส่งออกข้าวไทยในปัจจุบันเป็นการค้าแบบเสรีในลักษณะที่ผู้ส่งออก ตกลงกับผู้ซื้อในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีลักษณะการส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล และ ในปี พ.ศ. 2546 ปริมาณการส่งออกข้าวไทยทำสถิติสูงที่สุดถึง 7.597 ล้านตัน ทำรายได้ให้ประเทศ 76,368 ล้านบาท โดยส่งไปขายทั่วโลก 173 ประเทศ ตลาดหลักของข้าวไทยอยู่ในทวีปเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง อเมริกา ยุโรป และโอเชียเนีย ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวหอมมะลิไทยเอาไว้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยเฉพาะพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิแหล่งใหญ่ของประเทศ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยให้แข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกที่มีแนวโน้มการแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า (AFTA) ซึ่งคาดว่าจะมีสินค้าข้าวจากเพื่อนบ้านเข้ามาตีตลาดในประเทศเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทยขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ เพื่อให้ผู้ผลิตข้าวหอมมะลิในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงมีความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และข้อกำหนดของมาตรฐานฯ รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติสู่ระบบการรับรอง
ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าแผนต่าง ๆ ที่ได้วางขึ้นมานั้นจะสามารถสกัดกั้นไม่ให้ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ เจาะไข่แดงข้าวหอมมะลิไทยในตลาดโลกในอนาคตต่อไปได้หรือไม่.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=71969
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง