มข.พบวิธีอนุรักษ์ พันธุกรรมไก่พื้นเมือง
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 53
มข.พบวิธีอนุรักษ์ พันธุกรรมไก่พื้นเมือง
รศ.ดร.เทวินทร์ วงษ์พระลับ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาค้นคว้าวิธีการเก็บรักษาน้ำเชื้อของพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่คงคุณภาพและ มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยใช้อุปกรณ์แช่แข็งแบบง่าย ๆ และราคาถูก ซึ่งงานวิจัยครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิ จัย (สกว.)
รศ.ดร.เทวินทร์ กล่าวว่า น้ำเชื้อที่ใช้ในการผสมเทียมในไก่มีอยู่ 3 ลักษณะ คือ น้ำเชื้อสด น้ำเชื้อแบบเหลวแช่เย็น (liquid semen) เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 ํซ และ น้ำเชื้อแบบแช่แข็ง (Frozen semen) เก็บรักษาที่อุณหภูมิ-196 ํซ โดยน้ำเชื้อแบบเหลวแช่เย็นและน้ำเชื้อสด มีข้อดีคือเมื่อผสมเทียมแล้วให้อัตราการผสมติดสูงกว่าแบบแช่แข็งใช้เทคนิคในการเก็บรักษาไม่ยุ่งยากและราคาถูก แต่มีจุดอ่อน คือ มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาของการเก็บรักษาสั้น ต้องนำไปใช้ผสมเทียมภายหลังการรีดเก็บและเจือจางด้วยน้ำยาเป็นเวลาไม่เกิน 1 วัน สำหรับน้ำเชื้อแช่แข็งนั้นแม้จะผสมติดต่ำกว่าน้ำเชื้อเหลว แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่การเก็บรักษาพันธุกรรม เนื่องจากสามารถเก็บรักษาน้ำเชื้อของพ่อพันธุ์ให้คงคุณภาพได้ยาวนานแม้ว่าพ่อพันธุ์จะตายไปแล้วก็ตาม
รศ.ดร.เทวินทร์ กล่าวอีกว่า การนำ น้ำเชื้อแช่แข็งไปใช้ในการผสมเทียมไก่ ควรกระทำในช่วงเวลา 15.00-17.00 น. โดยนำหลอดบรรจุน้ำเชื้อออกจากถังไนโตรเจนเหลววางในกล่องโฟมเปล่าประมาณ 5-8 วินาที จุ่มลงในน้ำเย็นอุณหภูมิ 2-5 ํซ นาน 5 นาที แล้วนำหลอดบรรจุน้ำเชื้อ มาเช็ดหลอดให้แห้งแล้วตัดปลายถ่ายเทน้ำเชื้อลงในหลอดขนาด 1.5 มิลลิลิตร นำไปผสมเทียมแม่ไก่โดยทันที โดยนำไซรินจ์ขนาด 1 มล. ที่ถอดปลายเข็มฉีดยาออกแล้ว มาดูดน้ำเชื้อปริมาตร 0.4 มล. สอดเข้าช่องคลอดไก่ความลึกในการสอดไซรินจ์ประมาณ 4 ซม. ค่อย ๆ ปล่อยน้ำเชื้อเข้าช่องคลอดของไก่ตัวเมียที่ทำการปลิ้นก้นไว้รอ โดยใช้เวลาปล่อยน้ำเชื้อประมาณ 5-8 วินาที จากนั้นในช่วงวันที่ 2-8 หลังการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็งแล้ว ให้ทำการเก็บไข่เข้าฟัก และในวันที่ 7 หลังจากการเข้าฟัก จะให้ทำการคัดไข่ที่ผสมไม่ติดออก หลังจากอายุไข่เข้าฟักได้ 18 วันจะทำการย้ายเข้าตู้เกิด เมื่ออายุฟักได้ 21 วัน จะได้ลูกไก่ที่เกิดจากการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง
สำหรับความสำเร็จของการทำน้ำเชื้อไก่พื้นเมืองไทยแช่แข็งครั้งนี้ มีจุดเด่นที่ใช้อุปกรณ์แบบง่าย ๆ ราคาถูก แต่ผลที่ได้ไม่ต่างจากการใช้น้ำเชื้อไก่ที่แช่แข็งด้วยเครื่องมือที่มีราคาแพงของต่างประเทศ ซึ่งพบว่าคุณภาพน้ำเชื้อ มีอัตราการผสมติดของไก่ ประมาณร้อยละ 60 จากการผสมเทียมให้แม่ไก่เพียง 1 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งโดยทั่วไปในต่างประเทศทำการผสมเทียมในไก่พื้นเมืองด้วยน้ำเชื้อแช่แข็ง 2 ครั้ง/สัปดาห์ และมีอัตราการผสมติดประมาณ ร้อยละ 60 เช่นกัน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.เทวินทร์ วงษ์พระลับ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร. 08-5000-4643 หรือ อีเมล
[email protected]
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 21 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=73188
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง