เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 53
ด้วยสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยไรฝุ่น มลพิษ ความร้อนจากแสงแดด และพอคนเราเริ่มมีอายุมากขึ้น จึงเป็นธรรมดาที่ผิวหนังทั้งชายจริง หญิงแท้ จะเกิด "อนุมูลอิสระ" ริ้วรอยเหี่ยวย่นได้ง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งไม่พึงประสงค์ทำให้ผู้คนยุคนี้สรรหา "ครีมประทินผิว" จากต่างแดนทั่วโลกมาใช้ ที่ปีๆหนึ่งมีมูลค่านับล้านบาท เพื่อลดการนำเข้า อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีอยู่ในบ้านเรา
ฉะนี้ ดร. ชนะ พรหมทอง นักวิชาการ ฝ่ายวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นางภัทรา อะหมะดี พีรซะหีด นักวิชาการ ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ พร้อมคณะจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนา "ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครง" ขึ้น
นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. เปิดเผยว่า ในการนำเข้าผลิตภัณฑ์โลชั่นบำรุงผิวในปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 4,000 ล้านบาท จากมูลค่าดังกล่าว อีกทั้ง วว.มีความเชี่ยวชาญและความพร้อมด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆจากสมุนไพร อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าเห็ด ซึ่งมีอยู่มากมายในบ้านเรา จึงได้ทำโครงการพัฒนาเวชสำอางจากเห็ดสมุนไพร โดยนำเห็ดเพื่อบริโภคมากกว่า 10 ชนิด มาทำการทดสอบและพบว่า "เห็ดแครง" หรือที่ท้องถิ่นเรียกว่า "เห็ดตีนตุ๊กแก" มีความเหมาะสมที่จะนำมาพัฒนาเป็นครีมบำรุงผิว
นางภัทรา กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล ถึงสรรพคุณของเห็ดทางยารักษาโรค ซึ่งในโลกมีมากกว่า 12,000 ชนิด ในจำนวนนี้มี 2,000 ชนิด บริโภคได้ สามารถเก็บจากป่าและมีสรรพคุณทางยา 200 ชนิด ช่วยในการรักษาโรค เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เป็นอาหารอายุวัฒนะ และใช้ เป็นสารผสมในเครื่องสำอางบำรุงผิว ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นจากทาง "แดนโสม" มีการนำเห็ดหลินจือมาทำครีมบำรุงผิว
จากข้อมูลดังกล่าวทีมงานจึงเริ่มศึกษาเห็ดในบ้านเรา และพบว่า "เห็ดแครง" หลังนำไปผ่านขบวนการสกัดด้วยวิธีพิเศษทางห้องปฏิบัติการจะได้สาร "ฟลาโวนอยด์" (Flavonoids) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นสูงที่สุด อีกทั้งยังทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระของผิวหนังได้เป็นอย่างดี
เมื่อได้สารดังกล่าวทีมวิจัยจึงนำไปผสมตามสูตรที่คิดค้นอย่างเหมาะสมลงตัว โดยยังคงรักษากลิ่นของสมุนไพรจากธรรมชาติให้เป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย จึงนำไปทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัคร ให้ผลว่า ครีมบำรุงผิวจากเห็ดแครงไม่ระคายเคืองและไม่ก่อความเป็นพิษเฉียบพลันต่อผิวหนังได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ที่สนใจทดลองใช้ หรือนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์สามารถแวะไปดูได้ที่งาน "เปิดโลกทัศน์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 47 ปี วว." ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ เทคโนธานีคลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 25-27 มิถุนายน 2553
และภายในงานยังได้นำเทคโนโลยีการหมักไวน์แบบต่อเนื่อง ระบบผลิตน้ำตาลจากธัญพืช แผ่นประคบร้อน เจลล้างหน้ามาสก์ ลูกกลิ้งแต้มสิวจากสมุนไพร การผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบประหยัดและยั่งยืน เครื่องดื่มสกัดจากปลายข้าว ข้าวผงผสมเกลือแร่ และอื่นๆอีกมากมายมาแสดง.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 21 มิถุนายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/90737