เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 53
รัฐควรให้งบประมาณอุดหนุนชาวนาอย่างเป็นระบบ แทนการบิดเบือนกลไกการตลาด โดยการทำให้ราคาข้าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น เช่น การรับจำนำข้าวในปี 2547 รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดถึง 4,000 บาท เป็นผลให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเปลี่ยนนโยบายจากการรับจำนำไปเป็นการประกันรายได้เกษตรกรแทน
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดเป้าหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ความมั่นคงของชาวนา และการเพาะปลูกข้าวของประเทศไทย ในหัวข้อ "ยุทธศาสตร์การอุดหนุนข้าวไทย : เพื่อชาวนา หรือ เพื่อใคร" ที่มีนายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นประธาน และจัดให้มีขึ้นโดยผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้า การพาณิชย์ และอุตสาหกรรม (Tepcot) รุ่นที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วานนี้ (21 มิ.ย.) นั้น
ผู้สื่อข่าวซึ่งร่วมสังเกตการณ์ด้วย รายงานว่า นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการหอการค้าไทย ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมชาวนาไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาข้อสรุปให้แก่ภาครัฐว่าควรให้การอุดหนุนชาวนารูปแบบใด จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด นโยบายประกันรายได้ชาวนากับการรับจำนำข้าวอย่างไหนดีกว่ากัน และถึงมือชาวนามากกว่า ขณะที่การสร้างความสามารถในการแข่งขันและรายได้แก่เกษตรกรในระยะยาว ควรดำเนินการภายใต้แนวคิดการลดจำนวนชาวนาไทย หรือลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวลง เพื่อให้ราคาข้าวสูงขึ้น และยืนราคาได้อย่างมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ ได้ข้อสรุปใน 3-4 ประเด็น คือ รัฐควรให้งบประมาณอุดหนุนชาวนาอย่างเป็นระบบ แทนการบิดเบือนกลไกการตลาด โดยการทำให้ราคาข้าวสูงกว่าที่ควรจะเป็น เช่น การรับจำนำข้าวในปี 2547 รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดถึง 4,000 บาท เป็นผลให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเปลี่ยนนโยบายจากการรับจำนำไปเป็นการประกันรายได้เกษตรกรแทน โดยสรุปแม้จะพูดถึงการคิดคำนวนราคาอ้างอิง ที่จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น แต่วงสัมมนาตอบรับระบบประกันรายได้ว่า ประโยชน์ตกถึงมือชาวนามากกว่าการรับจำนำ ซึ่งผลการสำรวจของทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ชาวนาได้ประโยชน์จากการรับจำนำเพียง 36.8% ส่วนที่เหลืออีกมากกว่า 60% ตกอยู่ในมือคนอื่น ซึ่งหมายถึงนักการเมือง
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยจะร่วมกันล้อมกรอบนักการเมืองด้วยการลดอำนาจพวกเขา ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับนโยบายข้าว "อย่าเอานักการเมืองมายุ่งกับการแทรกแซงราคาข้าว เพราะไม่มีวันจะทำให้ราคาข้าวดีขึ้นได้ สิ่งที่ทำได้ คือ ประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรเท่านั้น และจัดระบบการประกันรายได้อย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้งบประมาณรัฐรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกร หรือมีพื้นที่เพาะปลูกจริง" นอกจากนี้ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมีข้อเสนอปรับช่องโหว่ของการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลกว่า ระยะยาวหากลดพื้นที่ปลูกข้าวลงครึ่งหนึ่งของปัจจุบันราคาข้าวจะสูงขึ้นได้ทันที
ด้านนายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ และอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มีการพูดเรื่องข้าวและปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นร้อยๆครั้ง ตลอดอายุราชการ 45 ปี แต่ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากข้อถกเถียงเดิมๆ ที่ว่าใครได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐมากกว่ากัน ระหว่างชาวนา โรงสี และผู้ส่งออก แม้วันนี้จะมีเรื่องใหม่เข้ามาบีบว่า จะเอาระบบจำนำกลับมาดี หรือคงการประกันรายได้ต่อไป แต่ท้ายสุดทุกฝ่ายยังย่ำอยู่กับที่และวนอยู่กับปัญหาเดิมๆ "เวลาเราพิจารณาปัญหา เราควรมองต้นเหตุของปัญหา เริ่มตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค หน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งถึงวิธีขายข้าวไปต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาลจริงๆ"
นายสมพลกล่าวถึง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ จะช่วยให้ชาวนาพ้นจากความยากจนอย่างไร ซึ่งการจะพ้นความยากจนได้ ไม่ใช่เอาราคาข้าวเป็นตัวกำหนด หาไม่แล้ว 500 ปีก็ยังแก้ไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเรื่องการเกษตรแบบผสมผสาน นี่เป็นทางหนึ่งที่ทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น ไม่ใช่แค่รายได้จากการปลูกข้าวอย่างเดียว "ประเด็นต่อมาคือการสร้างประสิทธิภาพในการผลิตกี่ปีมาแล้วที่ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่กลับมีผลผลิตต่อไร่ต่ำที่สุดเพียง 300-400 กก.ต่อไร่ ขณะที่เวียดนาม 700-800 กก.ต่อไร่ และสหรัฐฯ มากกว่า 1,000 กก.ต่อไร่ เรายังมีปัญหาคุณภาพด้วย ถ้าแก้ปัญหาดิน ระบบน้ำและการชลประทาน ปุ๋ย ปัจจัยการผลิต รวมถึงพันธุ์ข้าวได้ เราก็จะพูดเรื่องราคาเป็นลำดับต่อไปได้ไม่ยาก"
นายสมพลพูดถึงปริมาณผลผลิตที่สูงกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ราคาข้าวและสินค้าเกษตรไทยอ่อนไหวง่าย โดยราคาสินค้าต่ำเมื่อต้นฤดู แต่จะสูงขึ้นช่วงปลายฤดูว่า สิ่งที่ต้องทำระหว่างทางจากต้นฤดูถึงปลายฤดูเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาข้าวคือ การเก็บสต๊อก เมื่อราคาดี ก็นำออกขาย วิธีการนี้จึงออกมาในรูปของการรับจำนำข้าวโดยรัฐให้ราคา 80% หากราคาดี เกษตรกรไถ่คืนได้ แต่เมื่อกรณีนี้ถูกบิดเบือนไป รัฐบาลจึงใช้นโยบายประกันรายได้แทน ฉะนั้น การประกันรายได้วันนี้ จึงไม่ใช่การสร้างเสถียรภาพของราคาอย่างที่เข้าใจกัน "ถ้าต้องการสร้างความยั่งยืนแก่เกษตรกร ต้องดูเรื่องการผลิตให้มีคุณภาพ และได้ผลผลิตต่อไร่สูง อย่ามุ่งแต่จะขายอย่างเดียว ที่สำคัญต้องหยุดการคอรัปชันที่โกงกันตั้งแต่ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก นักการเมือง และข้าราชการให้ได้ ตราบเท่าที่ยังทำตรงนี้ไม่ได้ เราทั้งหมดยังคงอยู่ในวังวนเดิมๆ ซึ่งเป็นวังวนของความยากจนในหมู่ชาวนาอยู่วันยันค่ำ" นายสมพลกล่าวในที่สุด.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 22 มิถุนายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/eco/91072