เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 53
การทำเกษตรในยุคปัจจุบันที่ใช้หลัก "วิถีธรรมชาติ" ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม นับเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเกษตรกรบ้านเรามาก ซึ่งนอกจากมีความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ยังเป็นการตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการ "เปิบ" อาหารที่ปลอดภัย ยังเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนการจัดการ
ฉะนี้ เพื่อให้เกิดแนวทางการส่งเสริมอย่างมีแบบแผนเป็นรูปธรรม ทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงจัดทำ "โครงการอาหารปลอดภัยสมุทรสงคราม" ขึ้น
นายอรุณ เกิดสวัสดิ์ ผู้จัดแผนงานอาหารปลอดภัยฯ บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชุมชนทุกอาชีพก็คือ "ความตื่นตัวในเรื่องของอาหารปลอดภัย" ซึ่งนับว่าเป็นกระแสตอบรับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่ปัจจุบันกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ มีความสนใจที่จะเข้ามาสัมผัส เรียนรู้ในวิถี แนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็น "อานิสงส์" ของภาคเกษตรในการผลิตอาหาร
โดยต้องยึดหลักสำคัญคือ "ความปลอดภัย" ออกมาสู่ท้องตลาด เพื่อรองรับกลุ่มคนเหล่านี้ ที่ต้องการเข้ามาสัมผัสเรียนรู้ เก็บประสบการณ์ที่มีอย่างหลากหลายอาชีพ ทั้งการทำขนมไทยอ่อนหวาน การผลิตน้ำตาลปลอดสาร รวมทั้งการปลูก "ส้มโอขาวอวบ" ของอาจารย์สมทรง แสงตะวัน ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลบางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม
อาจารย์ สมทรง บอกให้ฟังว่า หลังกลับมารับราชการครูที่บ้านเกิด ช่วงปี 2514 ได้ซื้อที่ดินไว้จำนวนหนึ่ง ภายในพื้นที่ดังกล่าวมีส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่อยู่ 3 ต้น และ มะพร้าวตาล แรกๆนั้นได้เริ่มขยายกิ่งพันธุ์ส้มโอไปเรื่อยๆจนกระทั่งได้ 300 ต้น ในระยะเวลา 7 ปี พอเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตขาย ทำให้มีเงินซื้อที่เพิ่มและปลูกบ้านให้ลูกและภรรยาอยู่
เมื่อเพื่อนบ้านเริ่มสังเกตเห็นว่ามีรายได้ที่ดีขึ้น ต่างเริ่มเข้ามาขอซื้อกิ่งพันธุ์ส้มโอเพื่อไปปลูกบ้าง จึงเข้าทางที่วางไว้นั่นคือ "ความต้องการให้คนในชุมชนมีการรวมกลุ่ม" เพราะจากการสังเกตที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ต่างคนต่างอยู่ ไม่ปรึกษาหารือ คนไหนที่พอมีความรู้บ้างก็จะหวงวิชา อย่างการใช้ปุ๋ยใส่ต้นไม้ ยังเอาฉลากออกไม่ให้เห็นว่าใช้ตราอะไร ดังนั้น หากชาวบ้านได้ทำงานพัฒนาร่วมกัน ช่วยกันคิด ตัดสินใจ มีการรวมกลุ่ม นอกจากทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ยังแก้ปัญหาพ่อค้าคนกลางได้
ในช่วงแรกรวบ รวมได้ 57 สวน พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ ใช้เกณฑ์ปฏิบัติร่วมกันคือเน้น คุณภาพ ด้วยการเก็บผลผลิตตามกำหนด ถึงแม้ว่าราคาจะสูง คุณธรรม หากผู้บริโภคซื้อไปแล้วกินไม่ได้ จะรับคืนโดยเรามีสติกเกอร์ติดบ่งบอกไว้ว่ามาจากสวนใด และ คุณประโยชน์ เรื่องของอาหารปลอดภัย อย่างการใส่ปุ๋ยเคมี กลุ่มจะใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพที่ได้จากขยะในครัวเรือนมาหมักกับกากน้ำตาล เพื่อให้ได้ ปุ๋ยชีวภาพ มาผสมกับมูลสัตว์หมักไว้ 7 วัน แล้วนำไปใส่ต้นไม้ ทำให้ต้นทุนต่ำ รวมทั้งใช้ ขี้แดดนาเกลือ หรือที่เรียกกันว่า "ดินหนังหมา" ที่เดิมต้องจ้างคนงานขนทิ้ง
อาจารย์สมทรง บอกว่า สมัยเด็ก เคยเห็น พ่อเอาเกลือมาใส่โคนส้มโอ มะพร้าว แล้วเห็นว่าผลผลิตดก จุดนี้เองเลยขอขี้แดดเอามาใส่โคนต้นละ 3 กระสอบ รดน้ำทุกอาทิตย์ ผลผลิตออกมาหลายคนที่กินบอกว่าส้มโอหวานมาก นั่นก็เพราะว่า ในขี้แดดนาเกลือประกอบไปด้วย แพลงก์ตอน ฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม ซึ่งเป็นสารที่พืชต้องการ ทำหน้าที่ปรับโครงสร้างของดิน เมื่อผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ จึงส่งเข้าประกวดชิงโล่พระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ซึ่งได้รางวัลยอดเยี่ยม ทำให้สวนส้มโอเราเป็นที่รู้จัก มีสื่อเข้ามาทำข่าว แต่ปีนั้นต้นส้มโอ ตายหมด มารู้สาเหตุทีหลังว่าเพราะใส่มากเกินไป
ปริมาณการใช้คือใส่ขี้แดดเพียงแค่ ต้นละ 2 กก. ก็หวานเพียงพอ โดยระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการใส่คือก่อนเก็บผลผลิต 50-60 วัน แล้วรดน้ำทุกอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้ส้มโอกรอบหวาน แห้ง ต้นพันธุ์มีอายุนานไม่ต้องเสียเวลายกสวน "โละ" ปลูกใหม่ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใส่ในแปลงมะละกอ ชมพู่ แก้วมังกร พุทรา ฝรั่ง ทุกวันนี้นอกจากชาวสวนบางคนทีไม่ต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมี ชาวนาเกลือยังมีรายได้จากการขาย "ขี้แดดหนังหมา" ปีๆหนึ่งโกยเงินเข้ากระเป๋านับล้านบาทกันทีเดียว
ใครที่สนใจแนววิถี ธรรมชาติ สามารถกริ๊งกร๊างสอบถามกันได้ที่โทร.08-9829-7100, 0- 3476-1985 ในวันเวลาที่เหมาะสม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 23 มิถุนายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/91133