เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 53
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยครองแชมป์ส่งออกกุ้งเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสถานการณ์การส่งออกสินค้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ (ไม่รวมกุ้งก้ามกราม) สิ้นสุดไตรมาสที่ 1 (ม.ค. - มี.ค.) ปี 2553 พบว่า เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยมีปริมาณการส่งออกรวม 87,998 ตัน คิดเป็นมูลค่า 20,040 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.95 และ 26.01 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ส่วนปริมาณการผลิตกุ้งในประเทศมีผลผลิตรวม 94,169 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.14 โดยเป็นกุ้งขาวร้อยละ 99.76 และกุ้งกุลาดำร้อยละ 0.24 ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตในไตรมาสที่ 2 จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ประมาณร้อยละ 25
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ยอดส่งออกกุ้งไทยเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากประเทศที่เป็นคู่แข่งส่งออกกุ้งที่สำคัญของไทย เช่น ประเทศอินโดนีเซีย ผลผลิตมีแนวโน้มลดลง จากปัญหาเรื่องโรคไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น (IMN : Infectious Myonecrosis) ระบาด ส่งผลให้ผลผลิตกุ้ง ในปี 2552 ลดลงกว่าร้อยละ 40 ในอดีต นอกจากนี้โรคระบาดดังกล่าวนี้ได้ทำลายอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งของประเทศบราซิล ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งของบราซิล ลดลงกว่าร้อยละ 70 จนถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตให้กลับมาที่จุดเดิมได้ นอกจากนี้ ประเทศจีนที่ประสบปัญหาเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวน อากาศหนาวเย็น ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งในจีนไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค จึงต้องนำเข้ากุ้ง ส่วนตลาดส่งออกสำคัญ ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจและความเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง จากการเก็บภาษีเอดีของสหรัฐอเมริกา แต่ไทยก็ยังคงรักษาตลาดส่งออกกุ้งในสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามแม้ราคากุ้งจะดีดตัวสูงขึ้น แต่เกษตรกรไม่ควรเลี้ยงกุ้งในปริมาณที่มากเกินไป เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งปัจจุบันโรงเพาะฟักและฟาร์ม เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับมาตรฐาน GAP จากกรมประมงแล้วมากกว่าร้อยละ 80 โดยมีแหล่งผลิตกุ้งที่สำคัญของไทยได้แก่ จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 25 มิถุนายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=216572