กรมประมงประสบความสำเร็จ เลี้ยงปลาทะเลระบบน้ำหมุนเวียน
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 53
กรมประมงประสบความสำเร็จ เลี้ยงปลาทะเลระบบน้ำหมุนเวียน
บริเวณชายฝั่งทะเลทั้งทางด้านอ่าวไทยและชายฝั่งด้านทะเลอันดามัน นอกจากจะเป็นแหล่ง เพาะพันธุ์และเจริญเติบโตของสัตว์น้ำกร่อยแล้ว ยังเป็นแหล่งที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในรูปแบบกระชังหนาแน่นอีกด้วย ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงปลาในกระชัง มีการลงทุนต่ำกว่าการขุดบ่อและไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ขณะที่ผลผลิตค่อนข้างสูง ง่ายต่อการจับขึ้นจำหน่าย
การเลี้ยงปลาในกระชังเป็นวิธีที่มีมานานแล้ว โดยเฉพาะที่ประเทศกัมพูชา บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ในประเทศไทยได้มีการบันทึกไว้ว่าการเลี้ยงปลาในกระชังแถบชายฝั่งทะเลมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ปลาที่นิยมเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นปลากินเนื้อที่ต้องการออกซิเจนต่ำ กระชังที่ใช้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นกระชังอวน เพื่อความคงทนและเหมาะสมกับชนิดปลาที่เลี้ยง ปัจจุบันจำนวนผู้เลี้ยงปลาในกระชังมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี เนื่องจากการเลี้ยงได้ผลผลิตมากกว่าการเลี้ยงในบ่อหลายเท่าตัว และตลอดมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการพัฒนาขบวนการเพาะเลี้ยงอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ของเกษตรกร
ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาการเลี้ยงปลาทะเล ระบบน้ำหมุนเวียนที่ระดับความหนาแน่นสูงได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ด้วยคุณภาพน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงปลานั้นมีความสำคัญมากเช่น ระดับออกซิเจนในน้ำ ถ้าระดับออกซิเจนลดต่ำลงกว่าระดับที่ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำก็จะทำให้สัตว์น้ำเติบโตช้าหรือตายได้ ดังนั้น การติดตามและควบคุมออกซิเจนในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยระบบและการจัดการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดสงขลา กรมประมงเปิดเผยว่า ระบบติดตามและควบคุมออกซิเจนในบ่อเลี้ยงปลาเป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาของสถาบันฯ โดยการนำอุปกรณ์ เครื่องควบคุมเชิงตรรกที่สามารถเขียนโปรแกรมได้มาเชื่อมโยงเข้ากับเครื่องวัดออกซิเจนเขียนโปรแกรมควบคุมให้ทำงาน โดยการกำหนดเงื่อนไขให้สั่งการไปยังปั๊มลมทำงาน ออกซิเจนในน้ำจะค่อย ๆ สูงขึ้น จนถึงจุดที่กำหนดอุปกรณ์ชิ้นนี้จึงสั่งการให้ปั๊มลมหยุดทำงาน ระบบนี้สามารถติดตามและเพิ่มออกซิเจนในบ่อเลี้ยงน้ำไม่ให้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดให้ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่ปลอดภัยสำหรับสัตว์น้ำ ระบบนี้สามารถทำงานแทนเจ้าหน้าที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่าย และสามารถทดแทนการนำเข้าเครื่องมือราคาแพงจากต่างประเทศ
นอกจากนี้สถาบันฯ ได้นำระบบติดตามและควบคุมออกซิเจนในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำไปติดตั้งให้กับ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง บริเวณเกาะยอ อำเภอเมือง และ คลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งมักจะประสบกับปัญหาปลาตายเนื่องจากการขาดออกซิเจน ซึ่งสามารถแก้ปัญหาปลาตายได้ในระดับที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง
หากเกษตรกรท่านใดสนใจข้อมูลดังกล่าว สามารถติดต่อเข้าชมได้ทุกวัน หรือขอความรู้เพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จ.สงขลา กรมประมง โทร. 0-7444-2053 หรือ 0-7431-8895.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=74052
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง