เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 53
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบในปี 2554 กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ BIOTECH ได้ร่วมมือดำเนิน "โครงการปลูกต้นสักมงคลสายพันธุ์เสาชิงช้า"
ในการดำเนินโครงการนี้จะต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และสามารถผลิตกล้าไม้ได้ถึง 1,000,000 กล้า เพื่อให้ได้ทันตามที่กำหนดระยะเวลาไว้
นายสาโรจน์ วัฒนสุขสกุล หัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยงาว กรมป่าไม้ บอกว่า การขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและปักชำ เริ่มขั้นตอนด้วยการเก็บกิ่งตาจากไม้สักมงคลทั้ง 6 ต้นมาติดตากับต้นตอใหม่ (เหง้าสัก) เพื่อเป็นการลดอายุไม้สักที่นำไปสร้างเสาชิงช้าซึ่งมีอายุมากเกินไป ไม่เหมาะที่จะนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่การที่นำตาจากกิ่งต้นพันธุ์มาติดตาเหง้าสัก ก็จะได้ยอดที่เหมาะสมจะนำไปฟอกเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีการที่ได้จากการวิจัยแล้วว่าเหมาะสมที่สุด
จากนั้นได้ทำการติดตาเพื่อขยายพันธุ์ได้ประมาณ 400 กล้า ใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 6 เดือน ก็ได้ยอดที่สมบูรณ์และเหมาะที่จะนำไปฟอกฆ่าเชื้อ และเลี้ยงในขวดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ ซึ่งต้องมีการควบคุมเรื่องแสงและอุณหภูมิ
หัวหน้าสถานีวนวัฒนวิจัยงาว บอกอีกว่า ขั้นตอนต่อมาเป็นการย้ายต้นกล้าสักมงคลจากขวดเลี้ยงเนื้อเยื่อลงถาดเพาะชำ เพื่อชักนำให้เกิดรากในเรือนพ่นหมอกที่ต้องควบคุมความชื้นและอุณหภูมิประมาณ 15–20 วัน เมื่อ ต้นกล้าเริ่มออกรากมากพอแล้ว ก็ย้ายจากเรือนพ่นหมอกเพื่อปรับสภาพ 5-7 วันก่อนจะย้ายชำลงถุง และนำไปเลี้ยงในแปลงเพาะชำ จากนั้น ใช้เวลาเลี้ยงดูประมาณ 4 เดือน ก็จะมีขนาดโตพอที่จะจ่ายแจกให้กับประชาชนนำไปปลูกได้
ด้าน นางจำนรรจ์ เพียรอนุรักษ์ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ ประจำสถานีวนวัฒนวิจัยงาว บอกว่า การขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถือว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการที่จะเพิ่มจำนวนกล้าไม้ให้ ได้จำนวนมากและรวดเร็ว แต่ต้องใช้เทคนิคสูง โดยเฉพาะการนำเนื้อเยื่อจากยอดพันธุ์มาเพาะเลี้ยงในขวดนั้น จะต้องใช้ความชำนาญในการใช้มีดที่คมและปราศจากสิ่งปลอมปน ต้องทำในห้องปลอดเชื้อ ซึ่งกรมป่าไม้ได้จัดสร้างห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยและปลอดเชื้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 และทำการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนประสบความสำเร็จ การดำเนินงานในครั้งนีิ้ ถือเป็นความก้าวหน้าในการที่จะรักษาพ่อแม่พันธุ์เดิมเอาไว้ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกรุงเทพมหานคร โดยมีไบโอเทคร่วมมือในการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางพันธุ์
งานวิจัยนี้ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนทั่วประเทศ ได้ภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาสายพันธุ์ ของต้นสักเสาชิงช้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่กรุงรัตนโกสินทร์ไปปลูกเพื่อเป็นสิริมงคลได้ จึงกำหนดให้รับกล้าไปปลูกเพียงคนละ 1 ต้น หากเป็นหน่วยงานได้หน่วยงานละ 9 ต้น
ประชาชนสามารถจองกล้าสักผ่านทางเว็บไซต์ www.klasakmongkol.org หรือที่เว็บไซต์ของกรมป่าไม้ www.forest.go.th โดยใช้เลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก เป็นตัวกำหนด หรือติดต่อรับกล้าไม้ที่กรมป่าไม้ กรุงเทพมหานคร และ BIOTECH ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 28 มิถุนายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/92266