พลิกโฉมเลี้ยงไก่พื้นเมือง ปรับโรงเรือนสู่มาตรฐาน
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 53
พลิกโฉมเลี้ยงไก่พื้นเมือง ปรับโรงเรือนสู่มาตรฐาน
ไก่พื้นเมือง เป็นสัตว์ปีกที่อยู่ร่วมกับเกษตรกรไทยเป็นเวลาช้านาน ผลผลิตในการเลี้ยงส่วนหนึ่งใช้บริโภคในครัวเรือน ที่เหลือส่วนใหญ่ก็นำไปขายเป็นรายได้ในครอบครัว ในขณะที่ไก่พื้นเมืองตัวผู้บรรดาพ่อบ้านก็นำไปพัฒนาเป็นไก่ชนซึ่งปัจจุบันมีราคาที่แพงมากบางพันธุ์มีราคาสูงหลักแสน ปัญหาคือการเลี้ยงส่วนใหญ่เลี้ยงตามยถากรรม คือปล่อยให้เดินหากินอาหารเองจากธรรมชาติในบริเวณบ้านกลับเข้าเล้าหรือโรงเรือนในตอนเย็นและยังมีอยู่บางส่วนที่ไม่มีเล้าหรือโรงเรือนจะนอนตามต้นไม้หรือใต้ถุนบ้าน ซึ่งการเลี้ยงในลักษณะนี้ นอกจากทำให้ผลผลิตต่ำแล้วยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคระบาดโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก
ขณะนี้ กรมปศุสัตว์กำลังพลิกโฉมการเลี้ยงไก่พื้นเมืองจากเลี้ยงตามยถากรรม สู่การพัฒนาการเลี้ยงแบบมาตรฐานที่ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่น ซึ่งนอกจากทำให้เพิ่มมูลค่าการผลิตแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้เลี้ยงและผู้บริโภคปลายทางอีกด้วย
นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ จัดทำโครงการพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและการจัดการที่ลดความเสี่ยงต่อโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่นในไก่พื้นเมืองอย่างเร่งด่วน เพื่อเพิ่มผลผลิตของไก่พื้นเมืองให้สูงขึ้นและมีสุขภาพดี ทนทานต่อโรครวมถึงให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงการจัดการที่ถูกต้อง โดยจัดทำเป็นฟาร์มสาธิตประจำอำเภอทุกอำเภอ อำเภอละ 2 แห่งทั่วประเทศ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกพื้นเมืองรายอื่นในอำเภอทั่วประเทศ
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรด้านการเลี้ยงและการ จัดการฟาร์ม รวมถึงการดูแลด้านสุขภาพสัตว์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่ให้ผลผลิตสูงขึ้น และปลอดภัยจากโรคระบาดในรูปแบบการสร้างฟาร์มสาธิตการเลี้ยงไก่พื้นเมืองที่สามารถป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีกได้ขึ้นในชุมชนทุกอำเภอทั่วประเทศ รวมทั้งเป็นตัวอย่างหรือแนวทางให้กับเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนเดียวกันได้นำไปใช้ปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ปีกของตนเอง
รวมทั้งช่วยสร้างเกษตรกรเครือข่ายเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ปีกในระดับพื้นที่ ให้เป็นผู้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ไปยังเกษตรกรรายอื่นหรือกลุ่มเกษตรกรในชุมชนให้สามารถเลี้ยงสัตว์ปีกปลอดภัยจากโรคระบาด และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนจากการเลี้ยงสัตว์ปีกพื้นเมืองไม่ว่าจะเลี้ยงเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพรอง และช่วยสร้างชุมชนเข้มแข็งด้านการป้องกันโรคระบาดสัตว์ปีกโดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคเกษตรกร ที่มีความรู้และมีความตื่นตัวตลอดเวลา รวมทั้งการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ปีกอีกด้วย
ด้านนายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาโรคระบาดในไก่พื้นเมืองบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้หวัดนก โรคนิวคาสเซิล โรคฝีดาษ โรคอหิวาต์สัตว์ปีก เป็นต้น มีความสำคัญทำให้เกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้เกิดผลกระทบด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก ซึ่งนอกจากจะทำให้สัตว์ปีกป่วยตายเป็นจำนวนมากแล้วยังสามารถติดต่อสู่คนและทำให้คนเสียชีวิตได้อีกด้วย โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ตรวจพบโรคไข้หวัดนกในไก่พื้นเมืองของเกษตรกร 1,068 ราย คิดเป็น ร้อยละ 58.97
กรมปศุสัตว์มีความมั่นใจว่าเมื่อเกษตรกรนำเอาแนวทางของโครงการฯ นี้ไปใช้จริง จะทำให้มีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคมากขึ้น รวมทั้งส่งผลให้ประสิทธิภาพการแจ้งโรคจากพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์การระบาดของโรคในที่สุด และนำไปสู่การปลอดการระบาดของโรคไข้หวัดนกและโรคระบาดอื่น ๆ ในประเทศไทยก็ได้.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=74743
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง