'อ้อยอาหารสัตว์' แก้อาหารหยาบขาดแคลน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 53
'อ้อยอาหารสัตว์' แก้อาหารหยาบขาดแคลน
"
พันธุ์อ้อยอาหารสัตว์” พันธุ์แรก ให้ผลผลิตสูงกว่า 22 ตันต่อไร่ต่อปี ชี้เป็นทางเลือกใหม่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ-แพะ-แกะในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมแก้ปัญหาขาดแคลนอาหารหยาบ
ปีนี้กรมวิชาการเกษตรได้ปรับปรุงมิติการวิจัยด้านพืชใหม่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เน้นศึกษาวิจัยเฉพาะพืชที่เป็นอาหารมนุษย์เท่านั้น โดยได้เพิ่มการวิจัยและพัฒนาครอบคลุมพืชอาหารสัตว์ด้วย ซึ่งเบื้องต้นได้มีการพัฒนาพันธุ์อ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เป็นพืชอาหาร สัตว์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารหยาบในการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอ้อยอาหารสัตว์ดังกล่าวมีคุณสมบัติต่างจากอ้อยโรงงาน คือ สามารถสร้างต้นและใบได้มากในเวลาอันสั้น ทั้งยังทนแล้งได้ดีและสามารถงอกใหม่จากลำต้นใต้ดินเมื่อได้รับน้ำ ทำให้ง่ายต่อการจัดการ ขณะเดียวกันยังมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการปลูกพืชอาหารสัตว์ชนิดอื่น เช่น ข้าวโพด และข้าวฟ่าง ที่ต้องปลูกใหม่ทุกครั้ง หรือตัดได้เพียง 1-2 ครั้ง เท่านั้น
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา ร่วมกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา ได้นำพันธุ์อ้อย 6 สายพันธุ์ ที่มีลักษณะเหมาะจะใช้เป็นอาหารสัตว์มาทดสอบการให้ผลผลิตในสภาพแวดล้อมของศูนย์วิจัยฯ พบว่า อ้อยโคลนพันธุ์เบอร์ 6 ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ Phi58-260 กับพันธุ์ K84-200 เป็นพันธุ์ที่ มีศักยภาพเหมาะสมกับการใช้เป็นอาหารสัตว์มากที่สุด คือ มีลำเล็ก แตกกอดี ใบมาก เติบโตเร็ว มีความทนแล้ง สามารถตัดได้หลายครั้ง และมีโปรตีนประมาณ 5% โดยน้ำหนักสด ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศรับรองเป็นพันธุ์พืชอาหารสัตว์พันธุ์แรกของกรมวิชาการเกษตรได้ภายในปี 2554
อ้อยลูกผสมพันธุ์นี้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทุก 3-4 เดือน หรือยืดไปถึง 6 เดือน โดยให้ผลผลิตต้นสดในสภาพการปลูกแบบอาศัยน้ำฝน เฉลี่ย 2 ตันต่อไร่ต่อเดือน หรือมากกว่า 20 ตัน ต่อไร่ต่อปี ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้เครื่องสับให้สัตว์กินสด หรือทำเป็นหญ้าหมักไว้เลี้ยงสัตว์ในยามขาดแคลนได้ สัตว์จะชอบกินมากเพราะมีความหวานกว่าฟางข้าวและหญ้าสดทั่วไป ถือเป็นพืชอาหารสัตว์ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะ โดยเฉพาะผู้เลี้ยงโคนมมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งจะช่วยลดความสิ้นเปลืองค่ากากน้ำตาลได้ค่อนข้างมาก
นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องในพื้นที่ภาคใต้มีปัญหาขาดแคลนอาหารหยาบ และวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง เนื่องจากพื้นที่ทุ่งหญ้ามีค่อนข้างจำกัด และอยู่ห่างไกลจากแหล่งผลิตพืชไร่ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้มีต้นทุนการขนส่งสูง ซึ่งอ้อยอาหารสัตว์นี้จะเป็นทาง ออกที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้
“เกษตรกรที่มีพื้นที่น้อยก็ปลูกอ้อยอาหารสัตว์ได้โดยสามารถปลูกตามหัวไร่ ปลายนา หรืออาจปลูกในพื้นที่ว่างระหว่างแถวยางหรือปาล์มน้ำมันปลูกใหม่ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาแพง ทำให้ประหยัดต้นทุนและหนุนระบบการผลิตปศุสัตว์ให้มั่นคงมากขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงแพะ-แกะใน เชิงพาณิชย์ในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังขยายตัวมาก” ผอ.สวพ.8 กล่าว
หากสนใจพันธุ์อ้อยอาหารสัตว์ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสงขลา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทร.0-7420-5980.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 30 มิถุนายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=74961
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง