เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 53
หลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2550 ที่อนุมัติในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานโครงการผลักดันการส่งออกกล้วยไม้ปีละ 1 หมื่นล้านบาทจะสิ้นสุดในปีนี้ (2553)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก พ.ศ.2554-2559 เพื่อช่วยพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมกล้วยไม้ของไทยให้สามารถรักษาความ สามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
หากดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกกล้วยไม้เพิ่มขึ้น เกษตรกรผู้ผลิตกล้วยไม้ รวมทั้งธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกล้วยไม้ได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนส่งผลต่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทยในภาพลักษณ์ที่ประเทศไทยเป็น Land of Orchids จนในที่สุด ครม.ก็มีมติเห็นชอบในหลักการยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก พ.ศ.2554-2559 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ดังกล่าวเช่นเดิม
อรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรกล่าวถึงยุทธศาสตร์การแข่งขันกล้วยไม้ไทยในตลาดโลก มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกกล้วยไม้ โดยมีเป้าหมายอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี ร้อยละ 19.24 และมีเป้าหมายการส่งออกมูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2559 โดยมีกลยุทธ์ดำเนินการ 5 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ 1.การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านตลาดส่งออก 2.กลยุทธ์ส่งเสริมการผลิตกล้วยไม้คุณภาพ 3.กลยุทธ์พัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม 4.กลยุทธ์การพัฒนาองค์กร และ 5.ส่งเสริมการใช้และสนับสนุนการส่งออก โดยคณะรัฐมนตรีกำหนดนโยบายให้ทุกภาคส่วนสนับสนุนกล้วยไม้ตามภารกิจและศักยภาพในฐานะที่กล้วยไม้เป็นสินค้าที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย
"ตลาดส่งออกที่สำคัญ 5 อันดับแรกของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ไต้หวัน เวียดนาม และเยอรมนี ปัจจุบันประเทศไทยยังคงส่งออกกล้วยไม้เมืองร้อนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ และมาเลเซีย” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผย พร้อมยอมรับว่า อินโดนีเซียก็เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจในภูมิภาคอาเซียนเพียงแต่ยังไม่มีการทำ ตลาดกันอย่างจริงจังเท่านั้น
โครงการศึกษา "การกระจายสินค้าเกษตรประเภทไม้ดอกไม้ประดับและกล้วยไม้เข้าสู่ตลาด อินโดนีเซียแบบมีส่วนร่วม" ประจำปี 2553 โดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จึงเป็นอีกลู่ทางในการเผยแพร่และขยายตลาดสินค้าประเภทดังกล่าว อีกทั้งเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (ไทยกับอินโดนีเซีย) โดยใช้สินค้าเกษตรประเภทไม้ดอกไม้ประดับและกล้วยไม้เป็นสะพานเชื่อมมิตรภาพสู่มิติอื่นๆ ต่อไป
ด้านชุมเจตน์ กาญจนเกษร อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) ประจำกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่า จากข้อมูลของกรมไม้ดอกไม้ประดับอินโดนีเซียพบว่า สถิติไม้ดอกไม้ประดับของอินโดนีเซีย มีการเก็บบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ แต่ไม่ครบถ้วนทุกชนิด ล่าสุดเพิ่งมีการปรับฐานข้อมูลรวมทั้งสิ้น 24 กลุ่มชนิดแบ่งออกเป็น ไม้ตัดดอก (9 กลุ่ม) ไม้ตัดใบประดับมะลิและปาล์ม โดยเฉพาะพื้นที่การผลิตทุกชนิดลดลงเรื่อยๆ ยกเว้นปาล์ม
"จากการสอบถามรายละเอียดจากเจ้าหน้าที่ของกรมไม้ดอกไม้ประดับก็ได้รับคำอธิบายว่าแม้พื้นที่เพาะปลูกลดลง แต่ผลผลิตที่ได้ยังคงที่และเพิ่มขึ้นในบางชนิด เนื่องจากมีการปรับปรุงสายพันธุ์ เทคโนโลยีและประสิทธิผลของการผลิตนั่นเอง ผลผลิตต่อพื้นที่โดยเฉลี่ยค่อนข้างคงที่ เป็นที่น่าสังเกตว่ากล้วยไม้ให้ผลผลิตต่อพื้นที่ 4-6 ช่อต่อ ตร.ม. ไม่ต่างจากไม้ตัดดอกอื่นๆ ยกเว้นกุหลาบ แต่การปลูกกล้วยไม้จะใช้ระยะเวลายาวนานกว่ามาก ในขณะที่มะลิและปาล์มมีการปรับปรุงพันธุ์ จึงให้ผลผลิตต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น" อัครราชทูตที่ปรึกษาคนเดิมกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นตัวเลขยอดการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับจากไทยมายังอินโดนีเซียลดลง อย่างฮวบฮาบนับตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน หลังจากมีวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551 ที่ผ่านมา
แต่ถึงอย่างไร ชุมเจตน์ ยังระบุด้วยว่าในด้านไม้ดอกไม้ประดับนั้นไทยได้เปรียบดุลการค้า อินโดนีเซียมาโดยตลอด นับตั้งแต่ปี 2550-2552 ได้แก่ 198,487 29,455 และ 34,129 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ แม้ข้อมูลทางสถิติมิได้บ่งชี้ว่าไทยเป็นแหล่งไม้ดอกไม้ประดับนำเข้าของอินโดนีเซียอันดับต้นๆ แต่ข้อเท็จจริงในการสำรวจยืนยันว่ากล้ากล้วยไม้สกุลหวาย แวนด้า คัทลียา ล้วนนำเข้าจากไทยเกือบทั้งสิ้น รวมถึงพันธุ์พืชรุ่นใหม่ๆ อย่างหน้าวัว ชวนชม แก้วกาญจนารุ่นใหม่ก็นำเข้ามาจากไทยด้วยเช่นกัน
สมาคมไม้ดอกฯ จัดโรดโชว์เมือง"บาตัม"
อุดม ฐิตวัฒนะกุล นายกสมาคมไม้ดอกไม้ประดับแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการเข้าร่วมงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับอินโดฯ ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคมนี้ ว่านับเป็นครั้งแรกที่สมาคมได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงจาการ์ตา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าภาพหลักในการจัดโรดโชว์นำผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับเพื่อการส่งออกและเกษตรกรผู้ผลิตเดินทางไปจัดนิทรรศการและการเจรจาทางธุรกิจกับประเทศคู่ค้ารายใหญ่ใน ภูมิภาคอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย
"บาตัมเป็นเมืองท่าที่สำคัญของอินโดนีเซียอยู่ติดช่องแคบมะละกา ใกล้กับสิงคโปร์ สินค้าเกษตรทุกตัวที่จะนำเข้าอินโดนีเซียจะต้องผ่านเมืองนี้ ดังนั้นกลุ่มลูกค้าผู้มาเที่ยวชมงาน นอกจากคนอินโดฯ แล้วยังมีชาวสิงคโปร์และชาวมาเลเซียอีกด้วย เพราะระยะทางไม่ไกลมาก แล้วงานนี้ถือเป็นงานใหญ่ เป็นการรวมพลของผู้ผลิตและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับของอินโดนีเซียที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี" อุดมกล่าว
วิชา โกมลกิจเกษตร เจ้าของสวนวิชาพันธุ์ไม้ ผู้ผลิตและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับทั้งในและต่างประเทศ ในฐานะนายกสมาคมไม้ดอกไม้ประดับภาคตะวันออก ที่ออกมาระบุว่า อินโดนีเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้ามากว้านซื้อไม้ดอกไม้ประดับจากบ้านเราเป็นจำนวนมาก ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหมากปาล์ม ลิ้นมังกร แก้วกาญจนาและเฟิร์นชนิดต่างๆ จะได้ความนิยมมากที่สุด แต่ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าจากประเทศนี้กลับมีน้อยลง อาจเป็นเพราะการเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อได้หดหายตามไปด้วย
"ประเทศในอาเซียน อินโดฯ นำเข้าไม้ดอกจากไทยมากที่สุด อินโดฯ นี่เขามองไทยเป็นผู้นำด้านไม้ดอกไม้ประดับนะ ถ้าใครได้มาดูงานไม้ดอกที่เมืองไทยถือว่าสุดยอด แต่บ้านเขาก็มีการจัดงานประกวดไม้ดอกไม้ประดับเหมือนกัน และทุกปีผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศก็จะได้เดินทางมาดูงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 ฟรี ทุกปีเช่นกัน เพราะงานนี้ถือเป็นงานใหญ่สำหรับชาวอินโดฯ ที่ทุกคนอยากจะได้มาเที่ยวชม" วิชากล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 5 กรกฎาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20100704/65235/%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B9%84%E0%B8%