ประกันภัยพืชผล ป้องกันความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 53
ประกันภัยพืชผล ป้องกันความเสี่ยง
ผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม และการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชที่เกิดขึ้นแทบทุกปี สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรค่อนข้างมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงกำหนดให้มีการสร้างระบบประกันความเสี่ยงพืชผลทางการเกษตร ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาดังกล่าว พร้อมเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่เกษตรกรด้วย
อรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปี 2552 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งดำเนิน “โครงการศึกษาแนวทางการดำเนินการประกันภัยธรรมชาติ สำหรับการผลิตข้าว” นำร่องในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา นครสวรรค์ กำแพงเพชร หนองคาย มุกดาหาร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท สุพรรณบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยดำเนินการรูปแบบเดียวกับการรับ ประกันภัยจริง แต่ยังไม่มีการเก็บเงินค่าเบี้ยประกันจากเกษตรกรและจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกร
โครงการฯ มีการประเมินความเสียหายจริงเป็นรายแปลง ทั้งยังศึกษาอัตราเบี้ยประกัน โดยนำข้อมูลต้นทุนการผลิต มาคำนวณกับโอกาสการเกิดภัยในแต่ละพื้นที่ แบ่งเป็น 3 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มจังหวัดที่มีโอกาสเกิดภัยสูง อัตราเบี้ยประกัน 425 บาทต่อไร่ กลุ่มจังหวัดที่มีโอกาสเกิดภัยปานกลาง 262 บาทต่อไร่ และจังหวัดที่มีโอกาสเกิดภัยต่ำ อัตราเบี้ยประกัน 155 บาทต่อไร่ ขณะเดียวกันยังได้ศึกษาวงเงินคุ้มครองซึ่งคำนวณจากต้นทุนการผลิต ให้การคุ้มครองสูงสุดถึง 2,240 บาทต่อไร่ โดยการผลิตข้าว จะจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกรตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าว ที่ได้รับความเสียหาย 3 ช่วง ได้แก่ ระยะกล้า (ปลูก-30 วัน) จ่ายชดเชยเป็นเงิน 1,796 บาทต่อไร่ระยะแตกกอ (31-60 วัน) จำนวน 2,170 บาทต่อไร่ และ ระยะออกดอก-ก่อนเก็บเกี่ยว (61 วัน-ก่อนเก็บเกี่ยว) ชดเชย 2,240 บาทต่อไร่
ผลการศึกษาปรากฏว่า เกษตรกร 56.1% สนใจเข้าร่วมในการประกันภัยพืชผล เพื่อจะได้รับการชดเชยที่คุ้มค่ากับการลงทุนที่มีความเสี่ยงกับปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วม ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจในอาชีพทำนา และมีความอุ่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรมีความสามารถในการจ่ายค่าเบี้ยประกันได้ไม่เกิน 150 บาทต่อไร่
จากการศึกษาดังกล่าวได้แบ่งระบบประกันภัยเป็น 2 ระดับ คือ 1.ระดับพื้นฐาน รัฐจะจ่ายเบี้ยประกันให้เกษตรกร ทั้งหมดที่ไม่เข้าร่วมการประกันภัย ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับการช่วยเหลือในปัจจุบันอัตรา 606 บาทต่อไร่ 2.ระดับต้นทุนการผลิต เกษตรกรที่ซื้อประกันเท่านั้นจะได้รับการคุ้มครองโดยรัฐจะสมทบค่าเบี้ย ประกันให้ 60% ซึ่งเป็นอัตราที่เกษตรกรสามารถจ่ายได้ หากประสบปัญหาจะได้รับการชดเชยสูงสุดไร่ละ 2,240 บาท สำหรับภัยธรรมชาติที่คุ้มครอง มี 2 ภัย คือ ภัยแล้ง และน้ำท่วม
ปีนี้กระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยการเกษตร กรมอุตุนิยมวิทยา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดำเนินการขยายผลการศึกษาโครงการนำร่องการประกันภัยธรรมชาติ สำหรับการผลิตข้าวนาปีที่ปลูกปี 2553/2554 โดยกรมฯได้คัดเลือก อ.เมือง จ.ขอนแก่น อ.ตรอนและอ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ เป็นพื้นที่ศึกษา เพื่อเปรียบเทียบวิธีการประเมินความเสียหายจากภัยธรรมชาติสำหรับการผลิตข้าว ซึ่งใช้ดัชนีภูมิอากาศ (Weather Index) และไม่ใช้ดัชนีภูมิอากาศ (ประเมินความเสียหายที่แปลงผลิต)
การสร้างระบบประกันภัยพืชผลทางการเกษตรนี้ ถือเป็นหนึ่งช่องทางที่ช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขณะเดียวกันยังจะช่วยสร้างความมั่นใจในอาชีพให้กับเกษตรกรด้วย ดีกว่าปล่อยให้เกษตรกรต้องเผชิญชะตากรรมโดยลำพัง เพราะปัญหาภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้งมีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด การมีระบบประกันภัยจะช่วยให้อุ่นใจและป้องกันความเสี่ยงได้มากขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=75948
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง