เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 53
นายไพโรจน์ ลิ้มจำรูญ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาเส้นไหมในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเส้นไหมขาดตลาดไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่ทุกตลาดทั่วโลก โดยขณะนี้ราคาเส้นไหมอยู่ที่กิโลกรัมละ 1,800-2,000 บาท กรมหม่อนไหมได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพราะปัจจุบันไทยต้องนำเข้าเส้นไหมจากต่างประเทศ เนื่องจากการผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอกับความต้องการใช้
โดยแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว กรมมีนโยบายปรับโครงสร้างการเลี้ยงไหมของเกษตรกรจากเดิมที่มีการเลี้ยงปีละ 7 รุ่น เป็นปีละ 15 รุ่น และได้ประสานกับผู้รับซื้อรังไหมและเส้นไหมให้รับซื้อในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นเดือนละไม่น้อยกว่า 8,000-15,000 บาท
"การเลี้ยงไหม 15 รุ่น กรมหม่อนไหมจะผลิตไข่ไหม และเลี้ยงตัวไหมในวัยอ่อนอายุ 10 -15 วัน และให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อเป็นไหมวัยแก่ เพื่อลดเวลาเลี้ยงและอัตราการตายของตัวไหม ทำให้ได้เส้นไหมมากขึ้น การเลี้ยงเดือนละ 2 รุ่นเกษตรกรสามารถทำได้ แต่เกษตรกรต้องเตรียมความพร้อมของใบหม่อนมากขึ้น ปกติเกษตรกรจะเลี้ยงไหมเป็นอาชีพเสริมจากการปลูกข้าว และพืชไร่ชนิดอื่น ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการปลูกข้าวและรายได้เสริมจากการเลี้ยงไหมเพิ่มขึ้น ด้วย เบื้องต้นกรมหม่อนไหมจะนำร่องการเลี้ยงไหม 15 รุ่น โดยมอบหมายให้ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์หม่อนไหมฯ จ.นครราชสีมา จ.อุบลราชธานี จ.หนองคาย จ.กาญจนบุรีและ จ.แพร่ โดยจะนำเกษตรกรเข้ามาฝึกอบรมภายในศูนย์ฯ เพื่อเป็นเกษตรกรต้นแบบนำความรู้ความเข้าใจและทักษะการเลี้ยงที่ถูกต้องไปถ่ายทอดให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 6 กรกฎาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=218058