ใช้ปุ๋ยชีวภาพปรับสมดุลเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พืช
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 53
ใช้ปุ๋ยชีวภาพปรับสมดุลเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่พืช
โดยทั่วไปแล้วปุ๋ยที่เรารู้จักมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และ ปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งปัจจุบันปุ๋ยชีวภาพถือว่าเป็นปุ๋ยอีกชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมจากเกษตรกรอยู่ในขณะนี้
สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงความหมายของปุ๋ยชีวภาพตามพระราชบัญญัติปุ๋ย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ว่า คือปุ๋ยที่นำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตอยู่ และจุลินทรีย์นั้นต้องสามารถสร้างธาตุอาหารให้กับพืชได้ หรือทำให้ธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินเป็นประโยชน์ต่อพืชมาผลิตเป็นปุ๋ย
ส่วนน้ำหมักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะหมักจากซากพืช ซากสัตว์ หรือน้ำหมักจากหอยเชอรี่ และมีการเติมจุลินทรีย์เข้าไป ถูกจัดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ประเภทหนึ่ง เนื่องจากกิจกรรมที่นำไปใช้นั้นส่วนใหญ่นำน้ำที่ผลิตได้จากจุลินทรีย์ไปใช้ โดยจะแตกต่างจากกรณีของปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งเราเอาตัวจุลินทรีย์ในปุ๋ยไปใช้ประโยชน์
ส่วนประโยชน์จริง ๆ ของปุ๋ยชีวภาพ ที่เกษตรกรจะได้รับนั้น คือ การนำจุลินทรีย์ หรือสิ่งมีชีวิตไปช่วยสร้างประโยชน์ให้สิ่งมีชีวิตมีชีวิตอยู่อย่างดีขึ้น โดยสร้างธาตุอาหาร หรือทำให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์มากขึ้น ดังนั้นปุ๋ยชีวภาพจะสามารถไปทดแทนปุ๋ยเคมีได้บางส่วน บางพืช และบางพื้นที่ เป็นการเอาธรรมชาติคืนสู่พื้นดิน
ศักดิ์เกษม สุนทรภัทร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านควบคุมพืช และวัสดุการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรกรที่ต้องการใช้ปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับพืชจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยโดยรวมอันประกอบด้วย ชนิดของปุ๋ยชีวภาพที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับชนิดของดิน ชนิดของพืชที่ปลูกโดยคุณสมบัติของดินทั้งลักษณะทางกายภาพและชีวภาพ ต่างมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์มักจะเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยมากกว่าดินแน่นทึบ ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารในดินบางชนิด กล่าวคือ ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง หรือมีอินทรียวัตถุสูง มักจะมีธาตุไนโตรเจนอยู่ในปริมาณสูงการจะใส่ปุ๋ยชีวภาพที่มีธาตุไนโตรเจนจึง ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นผู้ใช้ควรจะต้องปฏิบัติตามฉลาก หรือเอกสารแนะนำการใช้ปุ๋ยชีวภาพอย่างเคร่งครัด เนื่องจากปุ๋ยชีวภาพแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติเฉพาะที่แตกต่างกันไป
สำหรับปุ๋ยชีวภาพที่ได้มาตรฐานควรจะมีลักษณะตามที่กำหนดภายใต้ พ.ร.บ. ปุ๋ยซึ่งมีการแก้ไขกำกับดูแล โดยปุ๋ยชีวภาพที่วางขายนั้น จะต้องมีการจดทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร ต้องระบุว่าจุลินทรีย์ชื่ออะไร มีปริมาณเท่าไร เอาไปใช้กับพืชอะไรไว้ในฉลาก จุลินทรีย์นั้นสามารถสร้างสารอาหารชนิดใดให้กับพืช ดังนั้นเกษตรกรที่ต้องการซื้อปุ๋ยชีวภาพไปใช้จึงต้องพิจารณาว่าจะซื้อ จุลินทรีย์ตัวไหนไปใช้กับพืชอะไรเป็นสำคัญ
ส่วนน้ำหมักชีวภาพที่เกษตรกรใช้กันอยู่นั้นไม่ถือว่าเป็นปุ๋ยชีวภาพ เนื่องจากน้ำหมักชีวภาพ ที่เกษตรกรทำเองหรือซื้อมาใช้ ไม่ว่าจะทำจากพืชหรือสัตว์แล้วนำมาหมักโดยมีการเติมจุลินทรีย์ลงไปบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือผลผลิตจากการย่อยสลายของซากพืชและซากสัตว์ ซึ่งจะมีสารบางตัวเกิดขึ้น โดยสารบางตัวนั้นแม้จะมีประโยชน์ต่อพืช แต่ก็ไม่ใช่ปุ๋ยชีวภาพ
อย่าลืมว่าปุ๋ยชีวภาพเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นการซื้อไปใช้ต้องพึงระวังการจะได้ประโยชน์จากปุ๋ยเต็มที่มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ของเกษตรกร รวมไปถึงสภาพดินและสภาพแวดล้อมด้วย เนื่องจากสิ่งมีชีวิตสามารถตายได้ง่าย การที่มันจะมีประโยชน์สูงสุดคือต้องลงไปในดิน เจริญเติบโตขยายจำนวนและมีกิจกรรม ดังนั้นสมดุลทางธรรมชาติจะต้องเกิดขึ้นก่อนแล้วประสิทธิภาพก็จะดีขึ้นตามมา.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=76392
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง