ไทยต้นแบบใช้เทคโนโลยีชีวภาพผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 53
ไทยต้นแบบใช้เทคโนโลยีชีวภาพผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้
ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า โครงการวิจัย “
การใช้เทคโนโลยีชีวภาพผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้เพื่อการเพาะเลี้ยง” เป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทยและอิสราเอล โดยการสนับสนุนจากองค์กรให้ความช่วยเหลือนานาชาติจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้เพื่อการเพาะเลี้ยง ซึ่งพัฒนางานวิจัยในรูปแบบโครงการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 3 ปี
จากการรายงานผลการวิจัยในส่วนของประเทศไทยล่าสุดพบว่า การเลี้ยงกุ้งแบบเพศผู้ล้วนให้การเจริญเติบโต ผลผลิต และอัตราการรอดตายสูงกว่าการเลี้ยงแบบเพศรวม ทำให้กรมฯ มองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งก้ามกรามเพื่อขยายผลการเพาะเลี้ยง เชิงพาณิชย์สู่เกษตรกรในอนาคต
ทางด้าน ดร.สุภัทรา อุไรวรรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยของกรมประมงว่า ในระยะแรกได้เริ่มดำเนินการทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามกราม 4 แบบ คือ 1. แบบรวมเพศ 2. แบบเพศผู้ล้วน 3. แบบเพศผู้ล้วนและคัดขนาดโตเกิน 50 กรัมออก ทุก ๆ เดือน และ 4. แบบเพศผู้ล้วน ซึ่ง มีการคัดขนาดโตเกิน 50 กรัมออกทุก ๆ เดือน และดึงก้ามที่มีขนาดใหญ่ของตัวที่เหลือออก โดยนำไปทดลองเลี้ยงในบ่อดินที่มีขนาด 1,200 ตารางเมตร ที่ศูนย์วิจัยและทดสอบพันธุ์สัตว์น้ำอุตรดิตถ์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลการทดลองปรากฏว่า การเลี้ยงกุ้งแบบเฉพาะเพศผู้จะได้กุ้งที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดีกว่าการเลี้ยงแบบรวมเพศ และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างกุ้งที่เลี้ยงเพศผู้แบบคัดตัวโตออก และไม่คัดตัวโตออก พบว่าในชุดการทดลองที่คัดตัวโตออก จะได้กุ้งที่มีน้ำหนักมากกว่าแบบที่ไม่คัดตัวโตออก
จากนั้นจึงทำการทดลองเปรียบเทียบการเจริญเติบโตและการรอดตายของกุ้งก้ามกราม ที่เลี้ยงแบบรวมเพศ และเฉพาะเพศผู้ล้วนในฟาร์มของเกษตรกรที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นระยะเวลาอีก 4 เดือน ผลปรากฏว่า การเลี้ยงแบบเพศผู้ล้วนให้การเจริญเติบโต ผลผลิต และการรอดตายดีกว่าการเลี้ยงแบบรวมเพศ จึงทำให้เกิดการต่อยอดการผลิตกุ้งก้ามกรามเพศผู้ล้วนโดยวิธีแปลงเพศ ด้วยการผลิตกุ้งเพศผู้ที่มีไข่ โดยกำจัดต่อมไร้ท่อที่ผลิตฮอร์โมนเพศผู้ออกจากลูกกุ้งเพศผู้ เพื่อเปลี่ยนเพศให้เป็นกุ้งตัวเมียและสามารถวางไข่ได้ แล้วนำมาผสมกับกุ้งเพศผู้ปกติ ทำการตรวจลูกกุ้งที่ได้หากเป็นเพศผู้ทั้งหมด แม่กุ้งคือกุ้งที่มีไข่ ต่อจากนั้นนำกุ้งที่มีไข่ ผลิตลูกกุ้งเพศผู้ล้วนและนำลูกกุ้งที่ได้ไปกำจัดต่อมไร้ท่อ เพื่อให้ได้กุ้งที่มีไข่เป็นจำนวนมาก และผลิตลูกกุ้งเพศผู้ทั้งหมดเพื่อนำไปเลี้ยงต่อไป
“ผลจากการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นผลดีต่อวงการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เนื่องจากจะได้วิธีการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตกุ้งก้ามกราม อันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดมากขึ้น และเกษตรกรในประเทศไทยจะสามารถเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากนักวิชาการที่ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากการทำงานวิจัยในครั้งนี้อีกด้วย” ดร.จิราวรรณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=76626
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง