เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 53
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินมาตรการเพื่อรองรับกฎระเบียบสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการประมง หรือ IUU ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยจากการติดตามและประเมินสถานการณ์นำเข้าและส่งออกสินค้าประมงของไทยกับสหภาพยุโรปหลังจากเริ่มใช้กฎระเบียบ เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ 2 ปีย้อนหลัง ในภาพรวมพบว่ายังมีผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากการนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ โดยส่วนใหญ่จับก่อนวันที่กฎระเบียบ IUU จะมีผลบังคับใช้ โดยปริมาณส่งออกลดลงประมาณ 4% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2% คือ ส่งออกได้ 96,460 ตัน มูลค่า 12,739 ล้านบาท แบ่งเป็น
สินค้าอาหารทะเลกระป๋อง การส่งออกทรงตัวเท่าๆ กับ 2 ปีที่ผ่านมา มูลค่ารวม 5 เดือนประมาณ 4,000 ล้านบาท สินค้าหมึกปริมาณการส่งออกลดลง 14.5% มูลค่า 1,730 ล้านบาท จากเดิมในปี 2552 มูลค่า 1,800 ล้าน ทั้งนี้หมึกสดแปรรูปมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 83.7% มูลค่า 160 ล้านบาท จากเดิมในปี 2552 มูลค่า 100 ล้านบาท สินค้าปลาทะเล มีปริมาณการส่งออกลดลง 53.8% มูลค่า 906 ล้านบาท จากปี 2552 มูลค่า 1,400 ล้านบาท เนื่องจากไม่มีการส่งออกสินค้าปลาทูน่าครีบเหลืองแช่แข็งไปสหภาพยุโรปในช่วง เวลาดังกล่าวจากที่ในปี 2552 มีการส่งออกถึง 8,000 ตัน สินค้ากุ้งมีการส่งออกเพิ่มขึ้น 73% มูลค่า 5,000 ล้านบาท กุ้งกระป๋องเพิ่มขึ้น 36% มูลค่า 132 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2552 มีมูลค่า 135 ล้านบาท
สำหรับปลาทูน่า ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และปาปัวนิวกินี เป็นต้น ขณะนี้ยังพบว่ายังไม่มีผลกระทบมากนักเนื่องจากเป็นการจับก่อนที่กฏระเบียบ IUU จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามกรมประมงจะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากกฎระเบียบ IUU อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลต่อปริมาณการนำเข้าและส่งออกอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 9 กรกฎาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=218528