ส่ง 'เกษตรอินทรีย์ไทย' สู่ตลาดโลก
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 53
ส่ง 'เกษตรอินทรีย์ไทย' สู่ตลาดโลก
ปัจจุบัน ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยแต่ละปีมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-20% ซึ่งปี 2553 นี้ คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีตลาดหลักอยู่ที่ กลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และ ตลาดใหม่ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวที่รวดเร็ว คือ กลุ่มสแกนดิเนเวีย และ อิสราเอล ส่วน การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยในขณะนี้ มีพื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ แต่มีฟาร์มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเพียง 140,000 ไร่ ทั่วประเทศ นับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่งพัฒนาพร้อมขยายฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในเวทีการค้าโลกซึ่งจะนำรายได้เข้าประเทศสูงขึ้นในอนาคต
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ ประมาณ 1,000-1,100 ล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของตลาดโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อส่งออกโดยสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด คือ ข้าวอินทรีย์ ประมาณ 80% มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และฮ่องกง รองลงมา คือ พืชผักอินทรีย์ อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง ส่งออกไปยังญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ ผลไม้อินทรีย์ อาทิ ลำไย มะม่วง สับปะรด และลองกอง เป็นต้น
การพัฒนาฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นเรื่องที่ทำยากขึ้นทุกขณะ เพราะนอกจากมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยเองแล้ว หากต้องการที่จะส่งออก ผู้ประกอบการต้องพัฒนาฟาร์มเกษตรอินทรีย์ให้ได้รับการรับรองมาตรฐานตามเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าด้วย โดยแต่ละประเทศได้กำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แตกต่างกัน ทั้งมาตรฐาน EEC 2092/91 และกฎระเบียบใหม่ EC No 834/2007 ของสหภาพยุโรป มาตรฐาน JAS ของญี่ปุ่น มาตรฐาน NOP ของสหรัฐอเมริกา มาตรฐาน IFOAM ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ซึ่งมาตรฐานต่าง ๆ ได้มีการปรับกฎเกณฑ์อยู่บ่อยครั้งเพื่อให้ทันสมัย และยังมีกฎเกณฑ์เพื่อกีดกันทางการค้ามากขึ้นทุกปีด้วย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ปีนี้กรมส่งเสริมการเกษตรมีแผนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขยายผลต่อยอดโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้เพื่อการส่งออก พื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 400 ไร่ เกษตรกรประมาณ 75 ราย โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ และได้รับการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ป้อนตลาดได้ 450 กิโลกรัมต่อไร่ หรือประมาณ 100 ตันต่อปี
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ตั้งงบประมาณปี 2554 จำนวน 630 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างเต็มศักยภาพ แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การปรับโครงสร้างพื้นฐานของพื้นที่เกษตรกรรม และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยตั้งเป้าเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรแบบเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ประมาณ 853,420 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 9 ล้านไร่ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์เพิ่ม อีกกว่า 20,000 ไร่ เน้นสินค้าหลักที่มีศักยภาพสูง ประกอบด้วย ข้าว 14,420 ไร่ ผัก 1,540 ไร่ ผลไม้ 290 ไร่ ชา 2,710 ไร่ และสมุนไพร 1,040 ไร่ เพื่อให้สามารถส่งออกและบริโภคภายในประเทศได้เพิ่มมากขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=582&contentID=77334
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง