ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 53
ยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงกุ้งทะเล
นางธนิฏฐา จงพีร์เพียร ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกล่าวว่า กรมประมงได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (ศรฟ.) ขึ้นเพื่อยกระดับกระบวนการตรวจรับรองฟาร์มให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และได้เปิดให้บริการรับรองฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในขอบข่าย การจัดระบบการผลิตกุ้งทะเลให้มีมาตรฐานเป็นระบบและการจัดการสิ่งแวดล้อม สำหรับอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลอย่างยั่งยืนตลอดสายการผลิต จากฟาร์มถึงโรงงานแปรรูป และระบบการผลิตที่ถูกต้องในฟาร์ม โดยพิจารณาตั้งแต่พื้นที่การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว และการจัดการหลังเก็บเกี่ยว สำหรับกุ้งทะเลและปลานิลไปแล้วในพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
และจะให้บริการพร้อมกันหมดทุกพื้นที่ในเดือนสิงหาคม 2553 นั้น ผลปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ และขณะนี้กรมประมงพร้อมแล้วที่จะให้บริการรับรองฟาร์มกุ้งทะเลตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มกุ้งทะเล
มาตรฐานนี้จัดทำขึ้นโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติไว้อย่างครอบคลุมทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกพันธุ์ การเลี้ยง การเก็บเกี่ยวผลผลิต การขนส่งออกจากฟาร์ม อีกทั้งวิธีการเลี้ยงยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และสามารถตรวจสอบ ขั้นตอนการผลิตย้อนหลังได้ ซึ่งจะทำให้กุ้งทะเลที่ได้มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และเพิ่มความมั่นใจในสินค้ากุ้งทะเลของไทยมากยิ่งขึ้น
โดยกรมประมงมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้ฟาร์มกุ้งทะเลพัฒนาตนเองเข้าสู่มาตรฐานนี้ทั้งหมดในอีก 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสามารถครองความเป็นหนึ่ง เรื่องกุ้งในตลาดโลกตลอดไป โดยได้เริ่มให้บริการใน 6 หน่วยงานนำร่องตั้งแต่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้แก่ 1) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งฉะเชิงเทรา พื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และนครนายก 2) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลสมุทรสงคราม พื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี 3) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดตรัง พื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดตรัง 4) ศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช (เฉพาะพื้นที่ปากพนัง) 5) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งนครศรีธรรมราช พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (ทั้งจังหวัด) 6) ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี พื้นที่รับผิดชอบ คือ จังหวัดกาญจนบุรี และนครปฐม ส่วนพื้นที่อื่นที่เหลือจะเริ่มในเดือนสิงหาคม นี้
ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกล่าว เพิ่มเติมว่าการขอการรับรองฟาร์มตามมาตรฐานนี้มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากเพียงแค่เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนฟาร์มกับกรมประมงแล้ว และได้เลี้ยงกุ้งโดยปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรฐานมาระยะหนึ่งแล้ว เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อขอคำแนะนำพร้อมยื่นคำขอรับรองฟาร์มได้ที่หน่วยงานของกรมประมงใกล้บ้าน ได้แก่ ศูนย์ฯ สถานีฯ สถาบันฯ ในสังกัดสำนักวิจัย และพัฒนาประมงชายฝั่ง สำนักวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ สำนักงานประมงจังหวัด และสำนักงานประมงอำเภอ สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ง่ายมาก เพียงไปติดต่อขอขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานประมงอำเภอในพื้นที่ที่ฟาร์มตั้งอยู่ ซึ่งทะเบียนฟาร์มนี้จะเป็นฐานข้อมูลที่ใช้สำหรับการขอรับความช่วยเหลือจากรัฐเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ อีกด้วย
สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอรายการเอกสารประกอบคำขอ วิธีดำเนินการและคู่มือปฏิบัติงานในเรื่องต่าง ๆ ได้ที่
www.fisheries.go.th/thacert และขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงาน กรมประมงใกล้บ้าน หรือศูนย์พัฒนาระบบ และรับรองมาตรฐานฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2561-4679, 0-2579-7738 ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กรกฎาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=77990
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง